ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:4 ไม่รับคำร้อง กรณีฟ้องทหารที่ศาลพลเรือนขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลัง 2 ครูฝึก จำเลยคดีกระทำโหดร้าย 'พลทหารกิตติธร' ขอให้วินิจฉัย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ กรณี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 3 และมาตรา 34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 199 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 28/2567)
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ส่งคำโต้แย้งของจำเลยทั้งสอง (ร้อยโท พงศ์ดนัย จันทร์ซางเพ็ญ ที่ 1 และจ่าสิบโท นรายุทธ อุ่นตาล ที่ 2) ในคดีหมายเลขดำที่ ปท 1/2566 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 3 และมาตรา 34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 และมาตรา 199 หรือไม่
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง เนื่องจากรณีดังกล่าวเป็นป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 192
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 5 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายสเมธ รอยกลเจริญ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 4 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายอุดม รัฐอมฤต
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 3 ระบุความหมายของ "ผู้เสียหาย" ว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึง สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย
และมาตรา 34 ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รวมถึงคดีซึ่งผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 199 ศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ผู้กระทําความผิดเป็นบุคคล ซึ่งอยู่ในอํานาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดตั้ง วิธีพิจารณาคดี และการดําเนินงานของศาลทหาร ตลอดจนการแต่งตั้งและการให้ตุลาการ ศาลทหารพ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
@ ที่มาคดี
คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ทหารเกณฑ์พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เสียชีวิตหลังเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยพลทหารกิตติธรเข้ารับการเกณฑ์ทหารตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2566 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ภริยาได้เดินทางไปรับพลทหารกิตติธรและพบว่ามีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาวสลับกัน ซึ่งจากการสอบถามของญาติแจ้งว่าพลทหารกิตติธร มีอาการป่วยมาหลายวันและพยายามขอให้ทางค่ายส่งมารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ภริยาของพลทหารกิตติธรเห็นอาการของพลทหารกิตติธรหนักมาก จึงยืนกรานขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชในระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค. 2566 ก่อนที่พลทหารกิตติธรเสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยภาวะคือติดเชื้อในกระแสเลือด
ต่อมา 4 ส.ค. 2566 ครอบครัวของพลทหารกิตติธร ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการ ศูนย์ป้องกันการทรมาน – อุ้มหาย จังหวัดเชียงรายว่า มีข้อสงสัยต่อการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธรเป็นอย่างมาก และได้ส่งร่างของเขา ไปผ่าชันสูตรศพเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
14 ธ.ค. 2566 พ่อของพลทหารกิตติธร พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.การทหาร) โดยมี นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.พรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) เป็นตัวแทนรับหนังสือ
21 ธ.ค. 2566 อัยการมีคำสั่งฟ้องครูฝึก ได้แก่ ร้อยโท พงศ์ดนัย จันทร์ซางเพ็ญ จำเลยที่ 1 และจ่าสิบโท นรายุทธ อุ่นตาล จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเขตอำนาจศาลทหาร โดยได้ชี้แจงว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลนี้ โดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 3 และมาตรา 34 จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 199 ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการทหาร เหตุในการกระทำความผิดนั้น เกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยทั้งสองยังคงรับราชการทหาร อีกทั้งการฝึกวินัยทหารนั้น มีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการรบหากมีสงคราม ซึ่งหากการกระทำของข้าราชการทหารถูกตรวจสอบโดยศาลอื่นอันมิใช่ศาลทหารนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติธำรงวินัยทหารและกระทบต่อความรักษาความมั่นคงของประเทศ” ศาลอาญาทุจริตฯ มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว และให้โจทก์ยื่นคำคัดค้านภายใน 7 วัน ก่อนส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล