ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญา 'รังสรรค์ บุญมี' อดีตนายก อบต.โพธิ์ศรีสว่าง ร้อยเอ็ด ติดต่อเรียกรับเงินจากบุคคลที่ประสงค์เข้าทำงานโดยมิชอบ 3 ครั้ง 190,000 บาท ทั้งที่ไม่มีการเปิดตำแหน่งแต่อย่างใด ส่งเรื่องอสส.ฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฏหมาย-แจ้งผู้มีอำนาจถอดถอนจากตำแหน่งด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รายนายรังสรรค์ บุญมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ติดต่อเรียกรับเงินจากบุคคลที่ประสงค์จะเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่างโดยมิชอบ รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190,000 บาท
โดนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 นายรังสรรค์ บุญมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ติดต่อกับบุคคลซึ่งประสงค์จะให้บุตรสาวเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง โดยแจ้งว่าจะมีตำแหน่งงานบัญชีญชีว่าง 1 อัตรา และได้เรียกรับเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้บุตรสาวของบุคคลดังกล่าวได้เข้าทำงานภายในเดือนตลาคม 2560 จนบุคคลดังกล่าวหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่นายรังสรรค์ บุญมี จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190,000 บาท โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่างไม่มีการเปิดตำแหน่งตามที่นายรังสรรค์ บุญมี กล่าวอ้างแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายรังสรรค์ บุญมี มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต พ.ศ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 และมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 และมาตรา 169) ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นอื่นโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 มาตรา 123/1 และมาตรา 123/2 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมาตรา 173) และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และดำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานควานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด