‘คมนาคม’ จัดโผโปรเจ็กต์เข้าคิวเสนอ ครม.ใหม่ ‘กรมทางหลวง’ ชง 4 มอเตอร์เวย์ ‘ต่อขยายโทลล์เวย์-วงแหวนตะวันตกเฟส 1 และ 2 - นครปฐมถึงชะอำ’ ‘การทางพิเศษฯ’ เสนอทางด่วนภูเก็ต-N2 เบรก Double Deck ยัน ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ล้ม เดินหน้าต่อ ทางรางชงส่วนต่อขยายสายสีแดง-ไฮสปีดไทยจีนไปหนองคาย ‘วิษณู’ ระบุแผนงานและโปรเจ็กต์ที่ค้าง ต้องถูกตีกลับทั้งหมด รอเสนอใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 สิงหาคม 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 มีมติเลือกนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีการประเมืนว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนนั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สำหรับแผนงานและโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่กำลังพิจารณาใน ครม.ในส่วนของกรมทางหลวง (ทล.) มี 2 โครงการ มูลค่ารวม 87,393 ล้านบาท คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม รวมถึงได้รวบรวมความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุวาระแล้ว
นอกจาก 2 โครงการนี้แล้ว กรมทางหลวง (ทล.) ยังมีแผนเสนอ ครม.อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์สาย M9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ (ด้านตะวันตก) ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,936 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม.วงเงิน 79,006 ล้านบาท ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการนี้ยังอยู่ที่กรมทางหลวง (ทล.) เพื่อรอเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมต่อไป
@กทพ.เลื่อนเสนอ ครม.เคาะ Double Deck
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยต่อไปว่า ในส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี 2 โครงการที่รอเสนอ ครม.พิจารณา โดยหลังจากที่รัฐบาลเกิดความเปลี่ยนแปลง ทาง กทพ.รายงานมาว่า จะปรับแผนเสนอทั้งสองโครงการใหม่ โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาในช่วงปลายปีแทน สำหรับทั้ง 2 โครงการประกอบด้วย โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 9,500 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
ส่วนโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck นั้น แหล่งข่าวระบุว่า เดิมมีแผนงานที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในเดือนก.ย.นี้ แต่เมื่อเกิดรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง จึงขอหารือกันอีกครั้ง
@แลนด์บริดจ์ไม่ล้ม
ขณะที่แผนงานผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า แม้จะอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล แต่ได้รับสัญญาณมาแล้วว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่ล้มโครงการนี้ ดังนั้น แผนงานต่างๆยังเดินหน้าต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม. ในปีนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2568 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2573
ขณะที่ตัวร่างพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ที่ต้องดำเนินการควบคู่นั้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเพื่อการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเดือนเมษายน 2568
@’รถไฟ’ ดันต่อส่วนต่อขยายสายสีแดง - ไฮสปีดไทยจีนเฟส 2 รอครม.ใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนโครงการด้านขนส่งทางรางในส่วนของ รฟท.จะมีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.วงเงิน 6,468 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท และรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟท.เสนอทั้ง 3 สายทางสู่กระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอบรรจุวาระที่ประชุม ครม. ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายทั้ง 3 สายทาง มีมติครม.เดิมอยู่แล้ว ในช่วงรอยต่อรัฐบาลใหม่สามารถเสนอได้ แต่ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะพิจารณาเลยหรือไม่
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ปัจจุบัน คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติโครงการแล้ว หลังจากนี้ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะได้รับอนุมัติ เดือน ม.ค. 2568 เปิดประกวดราคาผู้รับจ้าง ระหว่าง เดือน ก.พ. 68 ถึงต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ เดือน พ.ย. 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574
@วิษณุ แจง โปรเจ็กต์-แผนงานค้างครม. ต้องถูกตีกลับทั้งหมด
ด้านนายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศราว่า ครม.รักษาการทำได้หมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าพูดกันในทางทฤษฎี ยุบสภาก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ยุบหรอก จะยุบทำไม แต่ถ้าโยกย้ายหรืออนุมัติงบอย่างนั้นทำได้ทั้งหมด มันไม่เหมือนกับเวลายุบสภา เพราะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่งตั้งก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการพ้นตำแหน่งในลักษณะแบบนี้ทำได้หมด
กรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลง ผลกระทบเกี่ยวกับแผนงานและโครงการต่างๆ ที่ค้างในการบรรจุวาระการพิจารณาของ ครม.มีแน่นอน ซึ่งตามขั้นตอนแผนงานและโครงการต่างๆ จะต้องถูกตีกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โครงการที่ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะต้องถูกตีกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดเช่นกัน
"เพียงแต่ว่าแผนงานใด โครงการไหนที่เคยรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้วนั้นก็ให้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ พิจารณาเองว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติเลยหรือไม่ หรือจะเอาโครงการไปทบทวน ไปรับฟังความเห็นอีกรอบ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละกระทรวง" นายวิษณุระบุ
วิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี