ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตนักวิชาการศุลกากร ด่านสังขละบุรี-พวก พ่วงเอกชน 9 ราย ตรวจปล่อยสินค้าขาออกไปพม่าเป็นเท็จ ก่อนขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากร โดยไม่มีสิทธิ์ราชการเสียหาย 121,474,313.28 บาท ส่งสำนวนอสส. ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา -ให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษวินัยร้ายแรงด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหา นายอิศรา ซามัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กับพวก ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกอันเป็นเท็จ ราชการเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 121,474,313.28 บาท
โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า กรณีการไต่สวนเรื่องนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายจำรูญ ควรสวัสดิ์ สรรพากรพื้นที่กาญจนบุรี และสรรพากรพื้นที่สมุทรสงคราม กับพวก ทุจริตคืนเงิน ภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการส่งสินค้าออกจริง เมื่อปี พ.ศ. 2553 – 2557
ขณะเกิดเหตุ นายอิศรา ซามัน นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ นายสุรพงษ์ วงวาศ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายสุเทพ เลี่ยวสมบูรณ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรสังขละบุรีและด่านพรมแดน (ด่านเจดีย์สามองค์) จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ได้กระทำการตรวจปล่อยและรับบรรทุกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกในระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนปกติ เพื่อให้บริษัทผู้ประกอบการได้ไปซึ่งหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออก ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่ใช่ผู้ประกอบการส่งออกและมิได้มีการส่งสินค้าออกจริง แล้วนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โดยที่ไม่มีสิทธิได้รับ
เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 121,474,313.28 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. การกระทำของ นายอิศรา ซามัน นายสุรพงษ์ วงวาศ และนายสุเทพ เลี่ยวสมบูรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2. การกระทำของเอกชนซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท และบริษัทผู้ขอคืนภาษี รวม 9 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด และฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. การกระทำของเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสังขละบุรีรายอื่น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเห็นชอบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งกรมศุลกากร ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสองต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด