‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ไม่ตอบหลังถูกตั้งคำถามเคยถูกไล่ออกจาก ม.รามคำแหง ส่อขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐรัฐ ปฏิเสธตอบคำถามถึงความชัดเจนในตำแหน่งรัฐมนตรีสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐว่า ลงตัวแล้วหรือไม่
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการเกษตรในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะหลุดเก้าอี้ครม. นายสันติ ตอบสั้นๆ เพียงว่าไม่เห็นมีอะไร และยืนยันว่าไม่มีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค
นอกจากนี้นายสันติยังไม่ตอบคำถามว่าร้อยเอกธรรมนัส ได้เสนอรายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของตนเองมาให้พรรคแล้วหรือยังด้วยเช่นกัน
ในช่วงท้ายผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่านายสันติมั่นใจในคุณสมบัติตัวเองหรือไม่หลังมีการเผยแพร่เอกสารกรณีที่นายสันติถูกมหาวิทยาลัยรามคำแหงลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา เนื่องจากสาเหตุปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษาให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนและใบอนุญาติขับรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อปี 2542 ซึ่งนายสันติ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว
@ส่องคุณสมบัติรัฐมนตรีตามรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน (มาตรา 158 วรรคแรก) และรัฐธรรมนูญจึงกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 160 กล่าวคือ
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(4) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ทั่วไปครั้งแรก
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องมีเหตุมัวหมองและไม่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181) หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตาม (1)-(18) เช่น
เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง, เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี, เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในการของรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน