WHO ประกาศ 'ฝีดาษลิง' เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ไทยยกระดับด่านควบคุมโรคเฝ้าระวัง เคาะเพิ่ม 2 ด่าน ย้ำกลับจากประเทศเสี่ยง มีอาการรีบพบแพทย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ โดยโรคฝีดาษวานร (mpox) สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 ถึง 11 ส.ค.2567 จำนวน 827 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในแอฟริกา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนไทย 742 คน ชาวต่างชาติ 81 คน ไม่ระบุ 4 คน เฉพาะช่วงปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค.– 3 ส.ค. พบผู้ป่วยยืนยัน 140 คน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และตรวจยืนยันสายพันธุ์ในผู้ป่วยทุกราย
ตั้ง 2 ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
ที่ประชุมยังมีการเห็นชอบ ได้แก่ 1.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งให้เพิ่มด่านสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย เป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ลำดับที่ 70 และ ด่านระนอง (ท่าเทียบเรือสะพานปลา) จังหวัดระนอง ลำดับที่ 71 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้เห็นชอบและเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
2. ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนในการดำเนินการ เฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบค่าตอบแทนสำหรับโรคติดต่ออันตราย และ ระเบียบค่าตอบแทนสำหรับโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยให้มีคณะกรรมการพิจารณาการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ให้กับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งปฏิบัติงานใน 4 สถานที่ ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, พื้นที่ที่มีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย, ห้องปฏิบัติการ และ สถานพยาบาล
3. ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าชดเชยในการดำเนินการเฝ้าระวังการสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โดยให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิได้รัฐค่าชดเชยหรือทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นยื่นคำขอรับค่าชดเชยต่อหัวหน้าหน่วยงานใน 4 กรณี ดังนี้
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต
- กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
- กรณีติดเชื้อหรือกรณีบาดเจ็บจนได้รับอันตรายสาหัส
- กรณีติดเชื้อ หรือกรณีบาดเจ็บและได้รับการรักษาไม่เกิน 20 วัน
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในสนามบินทุกแห่ง ด่านทางบก ทางน้ำ ทั้ง 69 ด่าน ถ้าใครเดินทางเข้ามาจากกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยเฉพาะดีอาร์ คองโก ที่มีการระบาดของฝีดาษวานรตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศ ก็จะมีการตรวจสอบด้วยการให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ด่านฯ เพื่อช่วยดูแลว่ามีตุ่มหนอง มีอาการหรือไม่ และยังไม่จำเป็นต้องกักตัว เพราะประเทศไทยไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย หากผ่านด่านแล้วมีอาการจึงจะดำเนินการตามขั้นตอนเฝ้าระวัง
“ไม่ใช่ใครที่มีจากแอฟริกาแล้วต้องกักตัวทั้งหมด ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพียงแต่เข้มงวดขึ้นในกลุ่มประเทศที่องค์การอนามัยโลกประกาศ ส่วนผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของmpoxเข้ามายังประเทศไทยก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ขอให้สังเกตตัวเอง หากมีอาการเข้าข่าย ให้รีบเข้ารับการรักษา ที่สำคัญ ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงกับแพทย์ด้วย” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า เชื้อที่ทำให้เกิดผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทยตอนนี้ เป็นคนละตัวกับทางองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสายพันธุ์เคลด 1b ส่วนในไทยเป็นสายพันธุ์เคลด 2 อย่างไรก็ตาม ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของไทยมีศักยภาพสามารถตรวจแยกได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ ขณะนี้หากพบผู้ป่วยยืนยันmpox ก็จะสุ่มตรวจสายพันธุ์ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่พบเคลด 1 ในไทย
“อัตราการเสียชีวิตจากmpox สายพันธุ์เคลด 1b ที่องค์การอนามัยโลกประกาศอยู่ที่ราว 5 % แต่ในไทยที่เป็นสายพันธุ์เคลด 2 อยู่ที่ราว 1.3 % แต่ไม่ใช่ว่าคนปกติจะมีอัตราการเสียชีวิตนี้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตในสะสม 11 รายนั้น 100 % เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ”นพ.ธงชัยกล่าว
WHO ประกาศ 'ฝีดาษลิง' เป็นภาวะฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง (mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (global public health emergency) ซึ่งเป็นการออกประกาศเตือนครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี ตามหลังการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งกำลังแพร่กระจายออกไปสู่ประเทศข้างเคียง
คณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO ได้มีการเรียกประชุมเพื่อมอบคำแนะนำแก่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ว่าสมควรที่จะประกาศให้การระบาดของ mpox ระลอกนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระดับนานาชาติ (PHEIC) หรือไม่
สำหรับ PHEIC นั้นถือเป็นคำเตือนขั้นสูงสุดของ WHO ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดงานวิจัย การระดมทุน ตลอดจนมาตรการด้านสาธารณสุขและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคหนึ่งๆ
“เห็นได้ชัดว่ามาตรการตอบสนองที่สอดประสานกันของนานาชาติคือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด และปกป้องชีวิตผู้คน” ทีโดรส กล่าว
Mpox สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักอาการไม่รุนแรง โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่บวกกับมีแผลตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย ทว่าในบางกรณีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต
การระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเริ่มต้นจากสายพันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกว่า clade I ทว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า clade Ib นั้นสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นผ่านการสัมผัสใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์
ไวรัสตัวใหม่นี้ได้ระบาดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งกระตุ้นให้ WHO ต้องยกระดับเตือนภัยฉุกเฉิน
“การตรวจพบและการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ mpox สายพันธุ์ใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงการพบผู้ป่วยในประเทศข้างเคียงที่ไม่เคยมีรายงาน mpox มาก่อน ตลอดจนโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ คือสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” ทีโดรส กล่าว
นอกจากนี้ WHO ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนอนุมัติเพิ่มเติมภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยแผนรับมือการระบาดของ mpox รอบนี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง WHO หวังที่จะระดมเงินสนับสนุนจากผู้บริจาคด้วย
โดยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขสูงสุดของแอฟริกาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน Mpox ภายในทวีปแอฟริกา หลังพบว่าไวรัสกำลังแพร่กระจายในอัตราเร็วอย่างน่ากังวล โดยในปีนี้พบผู้ป่วยต้องสงสัยแล้วมากกว่า 17,000 คน และในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ในคองโก
อ่านประกอบ: