‘ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ’ ชี้ ‘เศรษฐา-ครม.ทั้งคณะ’ พ้นตำแหน่ง ไม่กระทบต่อ ‘ร่าง พ.ร.บ.งบปี 68-ร่าง พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมปี 67’ ชี้อยู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว พร้อมระบุเป็นอำนาจ ‘รัฐบาลใหม่’ เดินหน้า ‘ดิจิทัลวอลเลต’ หรือไม่
....................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : เปิดมติ ศาล รธน. 5:4 'เศรษฐา' สิ้นสุดความเป็น รมต. - ครม.พ้นทั้งคณะ)
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การที่นายเศรษฐา และครม.ทั้งคณะ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 วงเงิน 1.22 ล้านล้านบาท ที่วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว
“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ตอนนี้เข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว มันผ่านกระบวนการฝ่ายบริหาร ซึ่งก็ต้องเดินหน้าตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน เพราะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว” นายเฉลิมพล กล่าว
ส่วนการนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ทูลเกล้าฯถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ นั้น เป็นกระบวนการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ ส่วนรองนายกฯที่ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ทั้ง 2 ฉบับ ขึ้นทูลเกล้าฯได้หรือไม่ นั้น สลค.จะเป็นผู้ให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีกว่า
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 ได้มีการกำหนดงบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ รวม 274,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รัฐบาลชุดใหม่ สามารถนำงบดังกล่าวไปใช้ในโครงการอื่นที่ไม่ใช่โครงการดิจิทัลวอลเลตได้หรือไม่ นายเฉลิมพล กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
“มันมีกระบวนการที่จะต้องทำให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอันนี้ (ดิจิทัลวอลเลต) ได้มีการแถลงต่อสภาฯไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นชื่อตามนี้ (งบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ) แต่เขา (สภาฯ) รับรู้ว่ามันเป็นในลักษณะนั้น ส่วนจะเปลี่ยนงบไปทำอย่างอื่นหรือไม่นั้น ก็ต้องดูนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะแถลงต่อสภาฯ แต่ตอนนี้ ยังเป็นดิจิทัลวอลเลตอยู่ ซึ่งตรงนี้ได้ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติแล้ว” นายเฉลิมพล กล่าว