ก.แรงงานงานเมียนมาออกมาตรการบังคับแรงงานข้ามชาติเมียนมาในไทยส่งเงินเดือน 25% กลับประเทศ หากต้องการต่อใบอนุญาตทำงานต่อ-ขณะแรงงานข้ามชาติในไทยชี้มาตรการ รบ.เผด็จการทหาร ส่อทำชาวเมียนมาเลือกเป็นแรงงานผิดกฎหมายในไทยมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับที่ประเทศเมียนมาอ้างอิงจากสำนักข่าวอิรวดีของเมียนมาว่ากระทรวงแรงงานของประเทศเมียนมาได้เริ่มกฎการโอนเงินเพื่อกลับเข้าไปทำงานในต่างแดน ซึ่งกฎดังกล่าวออกมาตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว โดยจุดประสงค์ของกฎการโอนเงินนั้นเพื่อบังคับให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยส่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกลับมายังประเทศตัวเอง
กระทรวงแรงงานเมียนมาระบุว่าแรงงานข้ามชาติเมียนมาที่ทำงานภายใต้ข้อตกลงบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ MoU ในประเทศไทยจะต้องโอนเงินอย่างน้อย 25% ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศกลับมายังประเทศของตัวเองผ่านระบบธนาคารของประเทศเมียนมาในทุกสามเดือน ถ้าหากแรงงานเหล่านี้ต้องการที่จะต่อใบอนุญาตทำงานของพวกเขา หลังจากสิ้นสุดสัญญาสี่ปีก่อนหน้านี้
กระทรวงแรงงานฯ กล่าวต่อว่าจะไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้พวกเขาทำงานในประเทศไทยได้อีกแค่ 2 ปีเท่านั้น ภายใต้ระบบชื่อว่า “MoU U-turn” เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะโอนเงิน 6,000 บาท หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนพื้นฐานเป็นระยะเวลา 3 เดือน ไปยังธนาคารในเมียนมา
กระทรวงแรงงานฯ ระบุอีกว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ผู้ที่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทํางานที่สํานักงานรัฐบาลทหารสองแห่งในเมืองชายแดนเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยงและเกาะสองในภูมิภาคตะนาวศรีจะต้องแสดงเอกสารที่พิสูจน์ว่าพวกเขาได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารหรือบัญชีธนาคารของญาติในเมียนมา
เจ้าหน้าที่ของสหพันธ์หน่วยงานจัดหางานในต่างประเทศเมียนมา (MOEAF) กล่าวว่า “กระทรวงจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตทํางานหากพวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาได้ส่งเงิน 25 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ในกรณีที่พวกเขาไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ แรงงานข้ามชาติจะไม่สามารถทํางานได้อีกสองปี คําสั่งนี้ออกเมื่อวันที่ 30 ก.ค.และมีผลในวันที่ 1 ส.ค.”
ทางสำนักข่าวอิรวดีได้พยายามติดต่อขอความเห็นจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย แต่ก็ไม่มีความเห็นตอบกลับมาแต่อย่างใด
ขณะที่แรงงานภายใต้ MoU รายหนึ่งที่สัญญาสี่ปีกำลังจะหมดลงกล่าวว่าที่ผ่านมาเราใช้แค่เพียงระบบชื่อว่าฮุนดี (hundi หรือกลไกการโอนเงินอย่างไม่เป็นทางการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยแรงงานข้ามชาติเมียนมา) ดังนั้นถ้าทำตามระบบที่ว่านี้เราจะต้องเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งมันเป็นเรื่องยุ่งยาก
โดยแรงงานภายใต้ MoU ต้องต่ออายุหนังสือเดินทางก่อนเพื่อยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทํางาน หากพวกเขาไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางได้ พวกเขาจะต้องกลับไปเมียนมาหรือกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสาร
แรงงานคนนี้กล่าวอีกว่า “เผด็จการทหารได้ควบคุมทุกธุรกิจอย่างเคร่งครัด แต่มาตรการทั้งหมดล้มเหลว เผด็จการอ้างว่ามีการสำรองเงินตราระหว่างประเทศเอาไว้ แต่แท้จริงมันเป็นเช่นนั้น ดังนั้นนี่จึงเป็นการรีดเงินจากแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถ้าหากเผด็จการทหารได้ออกมาตรการบังคับกับแรงงานที่ทำงานโดยถูกกฎหมายและทำงานภายใต้ MoU ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เลือกเป็นแรงงานผิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ”
กระทรวงแรงงานฯยังได้มีการสั่งการให้ MOEAF เพื่อปฏิบัติตามคําแนะนําของกระทรวงแรงงานฯ
โดยประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเมียนที่มาตามกฎหมาย 4 ล้านคนโดยจำนวนนี้ 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานตาม MoU