'เศรษฐา ทวีสิน' เร่งสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำแผนแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค-น้ำท่วม-น้ำแล้ง-คุณภาพน้ำ เสนอคณะรัฐมนตรีสิ้น ส.ค. 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำว่า ปัญหาน้ำถือเป็นปัญหาเร่งด่วนในประเทศไทย จึงต้องเร่งบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และน้ำอุปโภคบริโภค ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลด้านน้ำของภาครัฐ ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนด้านน้ำระยะ 3 ปี พร้อมแผนงานระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาด เป็นการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน โดยการปรับปรุงโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนการก่อสร้างโครงข่ายบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม จะพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงาน 3 ปีด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค การปรับปรุงและพัฒนาระบบกระจายน้ำ การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วม และป้องกันพื้นที่ชุมชน
นายเศรษฐา กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและการจัดหาน้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำให้กับประชาชน โดยสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เร่งทำแผนงานแก้ปัญหาด้านน้ำ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการน้ำไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สถาบัน Gistda ประเมินภาพถ่ายที่น้ำท่วมซ้ำซาก ประสานงานกับกรมชลประทาน และมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนทช.เฝ้าติดตามสถานการณ์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สนทช.เสนอแผนการบริหารจัดการน้ำภายในสิ้นเดือนสิงหาคม วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้น และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่ให้ทราบ ส่วนพื้นที่ที่น่ากังวลคือภาคตะวันออกที่ยังประสบปัญหาด้านน้ำ เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจุด จึงสั่งการให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่กับการรายงานข้อมูลของ Gistda
"น้ำมีความสำคัญต่อเกษตรกรไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหารสูง การที่มีสถานการณ์ทางการเมืองของโลกที่ระอุอยู่และมีการแย่งชิงเรื่องอาหาร จะทำให้ไทยมีจุดเด่นด้านนี้มาก ซึ่งน้ำในประเทศไทยจะถูกใช้ไปในระบบนิเวศน์ อุปโภคบริโภค การเกษตร และการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำเป็นต้องใช้น้ำมาก เมื่อมีการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในไทยแล้ว น้ำจะต้องไม่ขาดแคลน เรื่องนี้รัฐบาลได้บูรณาการอย่างครบถ้วน หากประเทศไทยบริหารจัดการน้ำได้ดี จะเดินไปข้างหน้าได้ ผมมั่นใจในแผนงานของ สทนช.และสภาพัฒน์ฯ ที่ได้ทำมาจะสามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันได้ ดังนั้น การประชุมในวันนี้ถือเป็นการคิกออฟการแก้ไขปัญหาน้ำ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต" นายเศรษฐา กล่าว