กรมบัญชีกลาง-คณะกรรมการกฤษฎีกา เผยปม 'ปลาหมอคางดำ' ระบาดเข้าข่ายภัยพิบัติ แจ้งกรมประมงให้ใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎหมาย แจซีพีเอฟร่วมถก กมธ อว.หารือหนุนรัฐบาลแก้ปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กมธ.อว.) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ กรณีปัญหาปลาหมอคางดำ ว่าคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งมีนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน ได้ขอให้ กมธ.อว.ชุดใหญ่ ทำหนังสือเรียกตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องปลาหมอคางดำ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือเชิญถึง 3 ครั้ง ซีพีเอฟไม่มาชี้แจง แต่ส่งเอกสารมา
ดังนั้น ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ในฐานะประธาน กมธ.อว. จึงได้ใช้อำนาจของ กมธ.อว.ชุดใหญ่ ทำหนังสือเรียกตัวแทนจากซีพีเอฟเข้าชี้แจงตามระเบียบข้อบังคับของ กมธ.อว. ปรากฏว่านายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเอง
นายฐากร กล่าวว่า การเชิญซีพีเอฟมาชี้แจงไม่ได้เชิญมาในฐานะเป็นผู้กระทำความผิด แต่เป็นการหารือร่วมกันว่าซีพีเอฟจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนรัฐบาลได้อย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขณะเดียวกันในที่ประชุมยังมีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมด้วย เนื่องจากกรมประมงได้มีหนังสือแจ้งไปที่กรมบัญชีกลาง ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างไร เข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินได้หรือไม่
กรมประมงได้มีหนังสือสอบถามไปที่กรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่เมื่อได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งกรมประมง กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เห็นชอบร่วมกันเซ็นหนังสือรับรองว่ากรณีปลาหมอคางดำเข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่สามารถใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในเหตุฉุกเฉินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย พ.ศ. 2562
"เมื่อวานมีการตีความกันแล้วว่ากรณีปลาหมอคางดำระบาดอย่างหนัก เป็นภัยพิบัติ สามารถใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในเหตุฉุกเฉินดังกล่าวได้" นายฐากรกล่าว
สำหรับคำชี้แจงของนายประสิทธิ์ เป็นการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำเมื่อปลายปี 2563 จำนวน 2,000 ตัวจากประเทศกาน่า ซึ่งเมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ตายไป 1,400 ตัว ยังเหลือ 600 ตัว สัปดาห์ที่หนึ่งผ่านไปเมื่อตรวจอีกครั้งพบว่าในบ่อเลี้ยงเหลือแค่ 400 ตัว พอสัปดาห์ที่สองเหลือปลาเพียง 200 ตัว สัปดาห์ที่สามเหลือ 150 ตัว พอถึงสัปดาห์ที่สี่เหลือแค่ 50 ตัว ทางซีพีเอฟยืนยันว่าได้นำตัวอย่างปลาที่ตายแล้วมาดองเก็บในขวดโหลแล้วส่งให้ทางกรมประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนระเบียบของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง หรือ IBC กมธ.อว.มีมติร่วมกันว่าขอให้ซีพีเอฟแสดงใบอนุญาตจาก อบต. ยี่สารว่าได้รับอนุญาตในการก่อสร้างบ่อปูนสำหรับเลี้ยงปลาเพื่อวิจัย ไม่ใช่บ่อดิน และขอให้นำส่งเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 ซึ่งทางซีพีเอฟได้รับปากจะดำเนินการส่งให้