คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนวุฒิสภา ร้อง ป.ป.ช. สอบกรณีราชทัณฑ์ไม่ส่งเอกสารอนุญาต 'ทักษิณ ชิวัตร' รักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นความผิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาไต่สวนว่า การที่กรมราชทัณฑ์ไม่จัดส่งเอกสารให้แก่คณะกรรมาธิการฯ เป็นความผิดกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าหน้าที่ของรัฐจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นกรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในราชการ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
โดยข้อมูลเอกสารที่ขอให้จัดส่งมีจำนวน 3 รายการ ได้แก่
- ความเห็นของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ประกอบความเห็นทางการแพทย์ที่เสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการอนุญาตให้ผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 30 วัน 60 วันและ 120 วัน ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์
- รายงานปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมเอกสารประกอบ ภาพถ่าย เอกสารรายงาน และอื่น ๆ ซึ่งได้รายงานต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- ข้อมูลสถิติจำนวนผู้ต้องขังซึ่งพักรักษาตัวนอกเรือนจำ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบันโดยแยกสถิติเป็นรายปี
ซึ่งคณะกรรมาธิการมีหนังสือติดตามเร่งรัดให้ส่งเอกสาร 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับเอกสารทั้งสามรายการจากกรมราชทัณฑ์
มีรายละเอียดหนังสือ ดังนี้
ด้วยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาศึกษา เรื่อง พิจารณาติดตามแน่วทางการบริหารจัดการดูแลผู้ต้องขังของระบบกรมราชทัณฑ์และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงยุติธธรรม กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ คณะกรรมการสิทธิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้จัดส่งเอกสารแสดงข้อมูลและข้อเท็จจริง สำหรับประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จำนวน 3 เรื่อง คือ
- ความเห็นของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ประกอบความเห็นทางการแพทย์ที่เสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการอนุญาตให้ผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 30 วัน 60 วันและ 120 วัน ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์
- รายงานปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมเอกสารประกอบ ภาพถ่าย เอกสารรายงาน และอื่น ๆ ซึ่งได้รายงานต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- ข้อมูลสถิติจำนวนผู้ต้องขังซึ่งพักรักษาตัวนอกเรือนจำ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบันโดยแยกสถิติเป็นรายปี
ต่อมาคณะกรรมาธิการได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อติดตามให้จัดส่งเอกสารมายังคณะกรรมาธิการมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 ครั้ง รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 3 ถึง 4 ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมาธิการยังคงมิได้รับ เอกสารดังกล่าวจากกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด
คณะกรรมาธิการพิจารณาเห็นว่า รายละเอียดข้อมูลและข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจเรียกมาประกอบการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเพื่อ 'ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน' ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าว ได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ รวมทั้งมีอำนาจเรียกตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกัมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งรับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงและศึกษา จึงมีหน้าที่จัดส่งเอกสารดังกล่าวมายังคณะกรรมาธิการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสี่และวรรคห้า ที่บัญญัติว่า
"คณะกรรมาธิการ... มีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้... ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับ ให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก"
โดยหากเห็นว่ารายละเอียดและข้อมูลใดเกี่ยวข้องกับ ‘ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถปกปิดข้อความหรือข้อมูลเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการดูแลผู้ต้องขังของระบบกรมราชทัณฑ์ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุม เป็นจำนวนหลายครั้ง รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
อนึ่ง คณะกรรมาธิการไม่ได้รับคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าได้มีสั่งการให้กรมราชทัณฑ์จัดส่งเอกสารดังกล่าวมายังคณะกรรมาธิการหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเห็นว่า กรณีกรมราชทัณฑ์ไม่จัดส่งเอกสารให้แก่คณะกรรมาธิการน่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงขอส่งข้อมูลมายังท่าน เพื่อพิจารณาไต่สวนและมีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าหน้าที่ของรัฐจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ หรือเป็นกรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในราชการ หรือฝ้าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่