กต.ออกแถลงการณ์แจงสื่อนอกเผย ธปท.ตั้งคณะทำงานร่วม ปปง. สืบสวนข้อกล่าวหา ธนาคารไทยเอี่ยวธุรกรรม รบ.เมียนมาจัดซื้ออาวุธ หลังรายงานยูเอ็นชี้ปี 66 ซัพพลายเออร์ในไทยมีส่วนช่วย รบ.เมียนมานำเข้ายุทธภัณฑ์ 4.6 พันล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะดำเนินการสอบสวนกรณีที่มีข้อกล่าวอ้างว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งได้มีส่วนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธของเผด็จการเมียนมา
เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากการรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลในปี 2564 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ได้คว่ำบาตรสมาชิกของรัฐบาลทหารเมียนมาและเครือข่ายของอาณาจักรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
รายงานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติหรือยูเอ็นระบุว่ารัฐบาลทหารเมียนมายังคงนําเข้าอาวุธและยุทธภัณฑ์เกือบ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,698,915,000 บาท)จากซัพพลายเออร์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยในปีจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567
นายทอม แอนดรูวส์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษยูเอ็นได้ระบุว่าธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 5 แห่งในประเทศไทยมีบทบาทอย่างมากในการอำนวยความสะดวกเรื่องการโอนเงิน ซึ่งมากกว่าสองเท่าถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า
นายนิกรเดชระบุในแถลงการณ์อีกว่าเมื่อวันที่ 24 ก.ค.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ธนาคารได้มีการหารือกันในประเด็น “ธุรกรรมที่อาจเชื่อมโยงกับการซื้ออาวุธและยุทธภัณฑ์ทางทหารและประเด็นรัฐบาลเมียนมา”
นายนิกรเดชกล่าวว่า ธปท.และ ปปง.จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบธุรกรรมเหล่านี้
อย่างไรก็ตามนายนิกรเดชไม่ได้ระบุว่าการสอบสวนจะใช้กรอบเวลานานเท่าใด
สำหรับสถานการณ์ที่เมียนมาตอนนี้รัฐบาลทหารกําลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ถูกจัดตั้งขึ้นรวมถึง "กองกําลังป้องกันประชาชน" หรือพีดีเอฟ ที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย
ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารก่ออาชญากรรมสงครามในขณะที่พยายามบดขยี้การต่อต้านการรัฐประหาร
มีรายงานจากหลายกลุ่มว่ามากกว่า 5,400 คนต้องเสียชีวิต และอีก 27,000 คนถูกจับกุมโดยการปราบปรามของรัฐบาลทหารตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
เรียบเรียงจาก: https://www.channelnewsasia.com/asia/thailand-central-bank-investigate-myanmar-weapons-payments-junta-coup-4502171
มีรายงานข่าวในช่วงบ่ายวันที่ 25 ก.ค.เพิ่มเติมว่า เนายนิกรเดช ได้แจ้งพัฒนาการเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานไทยเรื่องการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ตามที่ได้มีการอ้างอิงในรายงานของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ว่า วันนี้ (24 ก.ค.) นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัด กต. เป็นประธานการประชุมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธปท. ปปง. สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ไทย กรมศุลกากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ กต.
ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานและสถาบันการเงินไทยในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่อาจอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้รัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้การตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างรัดกุมมากขึ้น เช่น การจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Task Force) ระหว่าง ปปง. และ ธปท. เพื่อตรวจสอบธุรกรรมและสอบทานมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่า สถาบันการเงินไทยมีมาตรการในการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่รัดกุมจริง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ทั้งนี้ ไทยจะมีหนังสือถึงผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบต่อไป
"ไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในทุกรูปแบบ และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน ไทยปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติ และไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศ" นายนิกรเดชกล่าว