กทม.เตรียมเคลียร์หนี้เดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมื่นล้าน ควักเงินสะสมกทม.จ่าย ลุ้นอีกคดีเดินรถหมื่นล้านชั้นศาลปกครองชั้นต้น ก่อนเผยสัมปทานสายสีเขียว จะเริ่มนับหนึ่งศึกษา PPP ปีนี้ หลังดันบรรจุในร่างงบปี 68 วงเงิน 20 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่งและช่วงตากสิน - บางหว้า ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส. 006/55 ลว. 3 พฤษภาคม 2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการและช่วงหมอชิต - คูคต ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลว. 1 สิงหาคม 2559 คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทนั้น คงต้องรอฟังคำสั่งศาลในวันศุกร์นี้ (26 ก.ค. 67) อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นมองว่าคดีนี้แบ่งได้ 2 มิติ เพราะคำสั่งศาลในอดีตที่ผ่านมาแล้ว มีคำสั่งศาลออกมาแล้ว และในส่วนของอนาคตต้องดูอีกทีว่า ตัวสัญญาจะเป็นอย่างไร อาจต้องดูคำสั่งศาลเป็นมูลฐานในการพิจารณาเรื่องของอนาคตด้วย เพราะตัวของสัญญาที่ 2 ยังอีกไกลเป็น 10 ปี ดังนั้น คำตัดสินของศาลไม่ว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร ในเรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้วที่เดินรถไปแล้วก็ต้องดูอนาคตด้วย อันนี้ก็ต้องรอคำสั่งศาล ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่เมื่อได้เข้ามาแล้วก็จะพยายามทำคดีให้ดีที่สุด คงต้องรอฟังคำสั่งศาลในวันศุกร์อีกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากคำตัดสินของศาลเป็นไปตามศาลชั้นต้นกรณีเรื่องของการชำระหนี้นั้น ทาง กทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อ นายชัชชาติ ระบุว่า คงต้องรอดูคำสั่งศาลอีกครั้งว่าให้ใครจ่าย เพราะเข้าใจว่าทางเอกชนฟ้องกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คงต้องรอฟังคำสั่งของศาลอีกครั้ง คงไม่กล้าไปก้าวล่วง และคงทำอะไรก่อนไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ในศาล จะไปตัดสินจ่ายก่อนก็ไม่ได้ เพราะสุดท้ายต้องรอคำสั่งจากศาล ถือเป็นเรื่องดีจะได้ชัดเจนและเดินหน้าต่อ เพราะเป็นเรื่องที่ค้างคามานาน
@ เตรียมควักเงินออมกทม. จ่าย
ด้านแหล่งข่าวจากกทม.เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เบื้องต้นคณะผู้บริหารกทม.ได้เตรียมช่องทางในการจ่ายหนี้ระบบเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1-2 ดังกล่าวแล้ว หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น โดยจะใช้การขอสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ใช้เงินประมาณสะสมของ กทม. โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 กทม.มียอดเงินสะสมปลอดภาระผูกพันที่ 63,000 ล้านบาท ซึ่งจะคล้ายกับที่เคยจ่ายหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่า 23,112 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย. 67
ขณะที่คดีความที่เกี่ยวกับการค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถ ปัจจุบันนอกจากคดีที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาแล้ว ยังมีอีกคดีที่ BTSC ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถดังกล่าวด้วย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทเช่นกัน โดยเป็นหนี้เดินรถช่วงปี 2564-2566 ซึ่งยังรอการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นอยู่
ทั้งนีั ต้นทุนค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคตรวม 7,000 ล้านบาท/ปี โดยสามารถเก็บค่าโดยสารได้เพียงปีละ 2,400 ล้านบาท มีส่วนต่างที่กทม.ต้องอุดหนุนอีกปีละ 4,600 ล้านบาท
@ ของบ 68 ศึกษา PPP สายสีเขียว
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดอายุในปี 2572 ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) วงเงิน 20 ล้านบาท โดยจะอยู่ในร่างคำของบประมาณประจำปี 2568 ที่จะเข้าสภากทม. วันที่ 30 ก.ค.นี้ จะใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี
ส่วนความคืบหน้าในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เพื่อปลดล็อกโครงการนั้น ปัจจุบันเรื่องยังค้างที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งแนวโน้มตอนนี้คือ กทม. ต้องการให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ก่อนอื่นจะต้องมีการเสนอให้ ครม. พิจารณาผลการดำเนินการตามคำสั่งคสช.เดิมก่อน จากนั้นจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว
เมื่อการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.มีผลแล้ว จึงค่อยเสนอครม.พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการในลักษณะ PPP ต่อไป