‘ก.แรงงาน’ เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงฯเรียกเก็บเงินสมทบจาก ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’ เข้า ‘กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง’ กำหนด 5 ปีแรกเรียกเก็บฝ่ายละ 0.25% ของค่าจ้าง นำชดเชยลูกจ้าง 2 กรณี ‘ออกจากงาน-ตาย’
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กสร.) กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับความคิดเห็นฟังร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา 130 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีออกจากงานหรือตาย โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 เป็นต้นไป
สำหรับการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ให้เป็นไปตามบัญชีอัตราเงินสะสมและเงินสมทบท้ายกฎกระทรวงฯ ได้แก่ 1.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2573 ให้เป็นไป ตามอัตราในบัญชี ก. คือ ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม 0.25% ของค่าจ้าง และนายจ้างจ่ายเงินสมทบ 0.25% ของค่าจ้าง และ 2.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2573 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามอัตราในบัญชี ข. คือ ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม 0.5% ของค่าจ้าง และนายจ้างจ่ายเงินสมทบ 0.5%
ทั้งนี้ มาตรา 130 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเป็นสมาชิก กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการที่นายจ้างได้จัดให้มีกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ หรือจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออก จากงานหรือตาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้บังคับแก่ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่าสิบคน เมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา...”
กสร. ระบุด้วยว่า สำหรับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ ได้แก่ นายจ้างที่ต้องจ่ายเงินสบทมเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งอาจเป็นภาระทางการเงินของนายจ้างเพิ่มขึ้น และลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งอาจเป็นภาระทางการเงินของลูกจ้างเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงาน กสร.จะจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในส่วนที่เป็นเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลจากเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง และในกรณีที่ลูกจ้างตาย ถ้าลูกจ้างมิได้กําหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไว้ โดยทําเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกําหนดมอบไว้แก่ กสร. หรือได้กําหนดไว้แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อน ให้จ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้แก่บุตร สามีภรรยา บิดา มารดา ที่มีชีวิตอยู่คนละส่วนเท่าๆกัน ตามมาตรา 133 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
รายงานข่าวแจ้งว่า กสร.ได้ให้ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฯฉบับดังกล่าว ว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย หรือในกรณีอื่นตามที่กำหนด
โดยที่มาตรา 130 กำหนดให้ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมาตรา 131 กำหนดให้นับแต่วันที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม เป็นเวลากว่า 25 ปี ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ยังไม่มีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างใน หมวด 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เนื่องจากขอบข่ายและวิธีการดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและสำนักงานประกันสังคมมีความคล้ายกัน
โดยสำนักงานประกันสังคมมีรูปแบบสวัสดิการ 7 กรณี ได้แก่ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย 4.คลอดบุตร 5.สงเคราะห์บุตร 6.ชราภาพ และ 7.ว่างงาน โดยในกรณีลูกจ้างตาย ชราภาพและว่างงาน มีความคล้ายกับวัตถุประสงค์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จะให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีออกจากงานหรือตาย แต่ที่แตกต่างกัน คือ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินสมทบจากภาครัฐ
นอกจากนี้ มีปัจจัยที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นับแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นและภาวะหนี้ครัวเรือนต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปีพ.ศ.2565 สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 86.5
ดังนั้น หากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะเรียกเก็บเงินสะสมและเงินสมทบอีกทางหนึ่งอาจเป็นภาระทางการเงินของลูกจ้างและนายจ้างเพิ่มขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กสร.จึงเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดผลทางกฎหมายต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ....