‘บอร์ด กสทช.’ มีมติ 7 ต่อ 0 เสียง ไม่อนุมัติจัดสรรเงิน ‘กองทุน กทปส.’ สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ‘โอลิมปิกเกมส์-พาราลิมปิกเกมส์’ ที่ฝรั่งเศส หวั่นสุ่มเสี่ยงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ-แทรกแซงกลไกตลาด ระบุมี ‘แพลน บี’ ร่วมกับ ‘โทรทัศน์’ 4 ช่องรายการ ถ่ายทอดสดแล้ว
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นประธาน ได้พิจารณาวาระ การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ กสทช. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กสทช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ไม่อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) สำหรับนำไปใช้ในการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ 2024 โดยมีเหตุผลใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.หาก กสทช. พิจารณาอนุมัติสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. ไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ กสทช. เป็นผู้กำหนดให้ต้องปฏิบัติ กล่าวคือ การดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must carry) อันจะส่งผลให้ กสทช. มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้
2.การที่ กสทช. ไม่อนุมัติให้มีการสนับสนุนเงินจาก กทปส. ครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามกฎ Must Have และกฎ Must Carry เพราะจากข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวรายวันในสื่อต่างๆนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า บมจ.แพลน บี มีเดีย (Plan B) ได้ร่วมกันดำเนินการถ่ายทอดสดฯกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จำนวน 4 ช่องรายการ ได้แก่ ช่อง T Sports 7 ช่อง CH7 HD ช่อง 9 MCOT HD และช่อง PPTV HD 36 แล้ว
ในขณะที่การถ่ายทอดรายการผ่านผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินฯนั้น มีกลไกกฎหมาย และเงื่อนไขใบอนุญาตของ กสทช. ที่รองรับให้สามารถออกอากาศรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และรายการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ผ่านกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช. ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ประชาชนย่อมมีทางเลือกในการเข้าร่วมรับชมในช่องทางที่เอกชนร่วมกันดำเนินการอย่างหลากหลาย หาก กสทช. พิจารณาเห็นชอบให้สนับสนุนเงินกองทุน กทปส. ก็จะเป็นการเข้าแทรกแซงกลไกตลาดที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วด้วย
3.ตามเอกสารร่างสัญญาระหว่าง บมจ.แพลน บีฯ กับ กกท. ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอในที่ประชุม กสทช. มีเนื้อหาเป็นการจำกัดขอบเขตสิทธิการเผยแพร่ภาพและแพร่เสียงไว้เฉพาะการออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) และช่องทางอื่นๆ ของสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) ไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การนำเอาเงินจากกองทุน กทปส. ที่ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีหน้าที่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุน กทปส. ไปสนับสนุนตามที่ กกท. เสนอโดยระบุให้สิทธิการถ่ายทอดสดแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินเฉพาะสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน และสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทั้งระบบ
4.การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ และการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ โดยตรง ดังนั้น จึงเป็นภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ดำเนินการโดยชัดแจ้ง
นอกจากนี้ การจะกล่าวอ้างว่า มิได้กำหนดไว้ในแผนงานของ กกท. หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ก็ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าจะมีการดำเนินการในทุกๆ 4 ปี
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’ถกใช้เงิน‘กทปส.’435 ล.ซื้อลิขสิทธิ์‘โอลิมปิก’-‘สมาคมโทรทัศน์ฯ’จี้จัดสรรเท่าเทียม