รฟม.คอนเฟิร์ม 18 ก.ค.นี้ นัดเซ็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน หลังครม.เห็นชอบผลการประกวดราคาแล้ว ชี้ BEM ต้องวางเงินหลักประกันสัญญา 4.5 พันล้านบาทในวันดังกล่าวด้วย ชี้ยังมีงบเวนคืนอีก 1.4 หมื่นล้านบาท รอผ่านสภาฯ เปิดแผนงานแบ่ง 2 ระยะ ก่อสร้าง 3 ปี 6 เดือน และบริหารตามระยะสัมปทานอีก 30 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทที่มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โดยเสนอราคาให้รัฐบาลอุดหนุนต่ำสุดนั้น
ล่าสุด นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังครม. อนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.แล้ว ในส่วนของรฟม. พร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2567 โดยอยู่ระหว่างประสานเตรียมพร้อม
ทั้งนี้ ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ เอกชน จะต้องวางหลักประกันสัญญาให้กับรฟม.เป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท แทน หลักประกันซองประมูลที่รฟม.จะคืนให้เอกชนไป
@รออนุมัติงบเวนคืน 1.4 หมื่นล้าน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) นั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเอกชนจะต้องก่อสร้างงานโยธา และติดตั้งงานระบบ โดยขณะนี้ ยังต้องรองบประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงินรวม14,621 ล้านบาท โดยจะต้องรอจัดสรรงบประมาณในปีแรก ในปี2568 ให้ผ่านสภาฯก่อน จึบจะเริ่มการเวนคืนที่ดินได้ ทั้งนี้รฟม.สามารถพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่เป็นพื้นที่เขตทางสาธารณะเพื่อส่งมอบให้เอกชนเข้าก่อสร้างได้ก่อน
อีกส่วนคือ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว เอกชนจะต้องเข้ามาออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะใช้ออกแบบประมาณ 6 เดือน
@งานแบ่ง 2 ระยะ สร้าง 6 ปี บริหาร 30 ปี / เร่งงานระบบเดินรถ 3 ปี เดือน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มีระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน
- ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี
ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท
โดยส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
'สุริยะ' เผยครม.ผ่านผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน ที่มี BEM เป็นผู้รับสัมปทานแล้ว ลุยลงนามสัปดาห์นี้ คาดเริ่มสร้างได้ทันที วางแผนเสร็จเฟสแรกปี 71 ก่อนเสร็จเปิดใช้ทั้งสายปี 73
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมชงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทที่มีบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เสนอราคาให้รัฐบาลอุดหนุนต่ำสุดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนัดหมายเอกชนลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งหลังจากลงนามแล้ว ทางเอกชนจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ทันที
นายสุริยะกล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานโครงการคร่าวๆหลังจากนี้ ฝั่งตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเดินรถในปี 2571 ส่วนฝั่งตะวันตกช่วงวัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะเปิดบริการปี 2573
เมื่อถามว่าจะบรรจุนโยบาย 20 บาทตลาดสายลงไปในสายสีส้มหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ในที่ประชุมครม.ในวันนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำโครงการนี้เข้าไปอยู่ในนโยบาย 20 บาท ตลอดสายอยู่แล้ว โดยได้เรียนในที่ประชุมครม.ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันกฎหมายพ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งบรรจุนโยบาย 20 บาทอยู่ในพ.ร.บ.ตั๋วร่วม
เมื่อถามว่าคดีความที่ค้างอยู่ในศาลไม่มีแล้วใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่มี