สมาชิกวุฒิสภารายงานตัว กกต.ครบ 200 แล้ว ส่วนที่สภาฯ ยังเหลืออีก 14 คน คาด 15 ก.ค.เรียบร้อย ด้าน‘บิ๊กเกรียง’ บอก สื่อเก็งกันเอง ปมมีชื่อชิงปธ.วุฒิฯ รู้จัก ‘อนุทิน’ เพราะเรียน วปอ.กัน ลาออกที่ปรึกษาก่อนแล้ว ขณะที่‘อังคณา’ วอนขอโอกาสผู้หญิง 1 ใน 3 นั่งเก้าอี้ประมุข-รองฯ เปิดพื้นที่รับฟังเสียงข้างน้อยบ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยากาศการเข้ารับหนังสือรับรองจาก กกต.ของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อนำไปรายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ในช่วงบ่ายวันนี้ สว.ได้มารับหนังสือรับรองครบทั้ง 200 คนแล้ว แบ่งเป็นวันแรกมารับหนังสือรับรอง 173 คน และวันนี้อีก 27 คน โดยนายณภพ สายวิเศษกุล สว.กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 11 มารับหนังสือรับรองเป็นคนสุดท้าย ในเวลา 14.20 น.
ส่วนที่รัฐสภา บรรยากาศการเปิดรับรายงานตัวสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน เป็นวันที่ 2 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีสว.เดินทางเข้ามารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อย่างต่อเนื่อง ภาพรวมมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของสว. ที่เข้ามารายงานตัว อาทิ นายบุญส่ง น้อยโสภณ สว. อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง สว. พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.คอนเนคชั่นกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่ถูกวางเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งนั่งประธานวุฒิสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. อดีตสส.4 สมัย ที่ประกาศตัวตั้งกลุ่มสว.สีขาว นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อดีตกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ (กสม.) หนึ่งในกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ เหลือเพียงกลุ่ม สว.อีกบางส่วน ที่นำโดยนางนันทนา นันทวโรภาส สว. จะเข้ารายงานตัวต่อสำนักฯเลขาฯวุฒิสภา ในวันสุดท้ายคือวันที่ 15 ก.ค.นี้ และจะมีการรวมตัวเพื่อหารือถึงโควตาในตำแหน่งประธานวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สรุปยอด สว.ที่มารายงานตัวในวันที่ 2 รวมทั้งสิ้น 186 คน จาก 200 คน คงเหลืออีก 14 คน ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่ม สว.ที่จะเดินทางมารายงานตัวในวันสุดท้าย
ช่วงเช้า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และ มทภ.4 เดินทางมารายงานตัวต่อรัฐสภา เวลา 09.50 น. โดยสวมเสื้อสีเหลือง เข้ามาทางฝั่งสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทันทีที่เดินทางมาถึงได้โบกมือ ยกมือสวัสดีทักทายสื่อมวลชน ก่อนที่นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา แนะนำตัว
หลังจากรายงานตัวเสร็จ พล.อ.เกรียง ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า บรรยากาศรายงานตัวถือว่าดี ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทางเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ส่วนที่มีการมองว่า เป็นตัวเต็งประธานวุฒิสภานั้น ส่วนตัวก็เป็นมุมมองตามสื่อ ส่วนตัวตั้งใจทำหน้าที่ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น เพราะตัวเองมีประสบการณ์ คิดว่ามีองค์ความรู้ในการก้าวเข้ามามากกว่า
เมื่อถามว่า พร้อมหรือไม่ หากได้รับตำแหน่งประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภา พล.อ. เกรียงไกร กล่าวว่า เอาให้ถึงเวลานั้น ทุกคนต้องพร้อมหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะตนเอง แต่สว.ทั้ง 200 คน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการถูกเลือก ทุกคนมีประสบการณ์ องค์ความรู้ และความเหมาะสม เพียงแต่ว่าตนถูกสื่อนำเสนอมากไปหน่อย
@รู้จัก ‘อนุทิน’ เพราะเรียน วปอ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ลำบากใจหรือไม่ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับพรรคการเมือง อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ไม่ได้ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่สมัยเรียน วปอ.
“จะเห็นได้ว่าตอนที่ผมประสบอุบัติเหตุ ท่านอนุทินก็รีบลงไปดูแลเรื่องของการดำเนินการทางการแพทย์ ซึ่งตอนนั้นผมเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮ็อคตกที่จังหวัดสงขลา” พล.อ. เกรียงไกร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่านายอนุทินให้คำแนะนำอะไรหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร แต่ได้ไปลาออก นายอนุทินก็ไม่ทราบ แล้วถามว่า “พี่เอาจริงหรือ” ก็ตอบว่า “ใช่ เอาแน่” โดยหลังจากที่ได้รับเลือกเป็น สว. แล้วก็พูดคุยกันอยู่เสมอ เวลานายอนุทินลงพื้นที่ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ให้คำแนะนำและติดตามไปบางเวลา
@สว.สีน้ำเงินเข้ม
เมื่อถามว่า หลายคนวิเคราะห์ว่า พล.อ.เกรียงไกรจะได้รับการสนับสนุนจาก สว.สีน้ำเงินใช่หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า “ไม่ครับ ที่ท่านว่าผมเป็น สว.สายสีน้ำเงิน ผมสายสีน้ำเงินเข้ม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ เทิดทูนด้วยชีวิต”
พล.อ.เกรียงไกร ยังยืนยันว่า ยังไม่มีใครยกหูโทรศัพท์ทาบทามให้เป็นประธานวุฒิสภา มีแต่สื่อนี่แหละ ขอบคุณมากที่สื่อให้ความไว้วางใจ หลังบ้านยังไม่มีใครติดต่อมา
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังว่างอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกรหัวเราะ ยืนยันว่ายังว่างอยู่
เมื่อถามว่า สว.ชุดนี้ ได้รับข้อครหาเรื่องการเลือกจำนวนมาก จะมีการผลักดันให้แก้ไขหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า เป็นมุมมองของแต่ละฝ่าย ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับความเห็นต่าง เมื่อมีข้อท้วงติงในสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนจะแก้หรือไม่ ก็ว่าไปตามเสียงส่วนใหญ่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็แล้วแต่มวลหมู่สมาชิกทั้งหลายที่แสดงความคิดเห็น
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สว. เริ่มสร้างกลุ่มก๊วนกันแล้ว พล.อ.เกรียงไกร ตอบกลับว่า ก็เห็นมีทุกกลุ่ม ทุกก๊วน แต่ไม่ทราบว่ามีก๊วนใดบ้าง ก็ติดตามจากสื่อ ในสังคมย่อมมีคนที่รักชอบกัน ก็มาอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในไลน์ของเราก็มีกลุ่ม พร้อมถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “นักข่าวมีกลุ่มไหมครับ” ส่วนเรื่องผลประโยชน์ที่เริ่มมีการเสนอรถและเงินนั้น ไม่ได้รับการทาบทามติดต่อในเรื่องพวกนี้
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน
@ขอให้ผู้หญิงมีส่วนในตำแหน่งประมุข สว.
ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อขอคะแนนจากใคร แต่โดยหลักการอยากสนับสนุนให้มีประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาเป็นผู้หญิง เพราะหากมองเรื่องความเสมอภาคทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีผู้หญิง คิดว่าอย่างน้อยก็หนึ่งตำแหน่งมีความจำเป็นต้องให้ผู้หญิงโดยจะเป็นใครก็ได้ เพราะทุกคนที่เข้ามาล้วนมีศักยภาพ และความสามารถในการทำหน้าที่ได้ และหากมีคนเสนอชื่อตนมา ก็สามารถทำหน้าที่ได้เช่นกัน
ส่วนกรณีที่นางนันทนา นันทวโรภาส สว. ระบุว่ามีการรวมกลุ่ม สว.พันธ์ุใหม่ โดยดึงนางอังคณาเข้าไปอยู่ในกลุ่มด้วยนั้น นางอังคณายอมรับว่า อยู๋ในกลุ่มนั้นด้วย ซึ่งกลุ่มของนางนันทนามีเพื่อนๆ หลายคน ที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวมาก่อนรวมอยู่ในนั้นด้วย ทั้งที่เคยทำงานภาคสังคมหรือเคยทำงานอื่นๆ มาก่อน จึงมารวมตัวกันประมาณ 20 กว่าคน
@วอนรับฟังเสียงข้างน้อย
เมื่อถามว่า ทางกลุ่มได้มีการพูดคุยถึงชื่อประธานวุฒิสภาที่อยู่ในใจบ้างแล้วหรือยัง นางอังคณากล่าวว่า ยังไม่ได้พูดกัน แต่ส่วนตัวมองว่าอยากเห็นประธานวุฒิสภาเป็นพลเรือนและเป็นผู้หญิง ส่วนชื่อที่ปรากฏมาตามหน้าสื่อนั้น นางอังคณากล่าวว่า หากพูดตามข้อเท็จจริง พวกของตนเองไม่ได้มีกลุ่มหนุนหลัง จึงอยากขอโอกาสของคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยได้เข้ามามีบทบาทด้วย ซึ่งต้องรอดูว่า สมาชิกทั้งหมดที่ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่จะเปิดโอกาสหรือใจกว้างอยากให้คนส่วนน้อยได้แค่ไหนหรือไม่
เมื่อถามว่า ในฐานะเคยทำงานใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะรู้จักทหารดี หากมีระดับพลเอกมานั่งเป็นประธานวุฒิสภา รู้สึกตระขิดตระขวงใจหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เอาเป็นว่าหากพูดถึงในระดับสากล ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะไม่ค่อยเห็นหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือกำลังปฎิบัติหน้าที่มาเป็นประธาน จึงอยากจะเห็นประธานเป็นพลเรือนมากกว่า
เมื่อถามอีกว่า หากมีหลายกลุ่มหลายก๊วน เกิดขึ้นในสว.ชุดนี้ จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ นางอังคณามองว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะสุดท้ายก็ต้องทำงานร่วมกัน เพียงแค่ขอให้คนกลุ่มใหญ่เปิดใจและรับฟังเสียงของคนส่วนน้อยด้วย เพราะหากมีการทำงานแบบประชาธิปไตย สุดท้ายเราก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็อยากเห็นเสียงส่วนใหญ่มีมติอย่างมีเหตุผลตามหลักการ ถูกต้องและชอบธรรมด้วย
ต่อข้อถามว่า หากคนที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งขณะนี้ มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองจะเป็นคำตอบว่าการเมืองเข้ามาครอบงำสภาสูงหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า ก็ทำให้คิดได้ว่าคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคการเมือง ชาวบ้านอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ในอนาคต แต่หากเป็นไปได้ คนที่เป็นอิสระหรือกลุ่มเล็กๆ หลายคนมีศักยภาพ หากเปิดโอกาสให้ก็สามารถทำงานได้
อังคณา นีละไพจิตร สว.