สภาผู้บริโภค ฟ้อง ศธ. กรณีปัญหาเรียกโรงเรีบนเก็บค่าบำรุงการศึกษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้ำรัฐธรรมนูญบอกชัด เด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ทนายความ และผู้แทนผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา เข้ายื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้หยุดการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายสิงห์ชัย สุขแสงรัตน์ ทนายความผู้เสียหาย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการฟ้องในครั้งนี้ว่า ต้องการให้ ศธ. สั่งการไปยังสถานศึกษาทุกแห่งให้หยุดการกระทำที่เรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากนักเรียนและผู้ปกครอง และให้สถานศึกษาที่เรียกเก็บเงินคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ฟ้องคดี รวมทั้งให้ รมว.ศึกษาธิการ และกระทรวง ศธ. ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน นับจากวันที่รับเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายด้วย ส่วนสาเหตุการฟ้องร้องนั้น นายสิงห์ชัย ระบุว่า สถานศึกษาได้เรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากนักเรียนและผู้ปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 54 บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยปี 2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
สำหรับค่าบำรุงการศึกษาที่ถูกเรียกเก็บในชั้นเรียนปกติจะเป็นค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ค่าสาธารณูปโภค ค่าสอนคอมพิวเตอร์ และเรียนห้องเรียนพิเศษ จะต้องเสียค่าบำรุงการศึกษาห้องเรียนพิเศษ
ทั้งนี้ นายสิงห์ชัย กล่าวว่า สถานศึกษาจะเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวง ศธ. กล่าวคือ เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาสาระมากกว่าปกติ การสอนด้วยบุคลากรพิเศษ และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน แต่กรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาดังกล่าวนั้นไม่เข้าข้อยกเว้นที่สถานศึกษาจะมีสิทธิเรียกเก็บได้
“หากมีการเรียกเก็บควรมีการเรียนการสอนที่มากกว่าการเรียนภาคปกติ เพราะเด็กจะได้โอกาสในการเรียนที่มากกว่าการศึกษาทั่วไป แต่พบว่าผู้เสียหายเขาไม่ใช่ผู้เรียนแบบนั้น เพราะผู้ปกครองส่งมาเรียนในหลักสูตรปกติ แต่ถูกเรียกเก็บค่าบํารุงการศึกษา ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกระทรวง ศธ. ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแลกลับละเลยหน้าที่ จึงนำมาสู่การฟ้องคดีในครั้งนี้” นายสิงห์ชัย กล่าว
ด้าน นายสมชาย คุ้มพูล คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศธ. เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกประกาศดังกล่าว แต่กลับไม่เห็นการดำเนินการแต่อย่างใด หรือการแก้ไขที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม
คณะทำงานฯ จึงตัดสินใจฟ้องคดีเพื่อระงับการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับข้อมูลจากผู้ปกครองที่เปิดเผยกับคณะทำงานว่า สถานศึกษาที่เรียกเก็บเงินอ้างว่าเป็นไปตามประกาศของกระทรวง ศธ. เรื่อง “การจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา” จึงมีสิทธิ์เรียกเก็บได้ ซึ่งส่งผลกระทบภาระด้านค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก อีกทั้ง สถานการศึกษาได้ออกใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งแสดงถึงเจตนารมและการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
“ที่ผ่านมาช่วงก่อนเปิดเทอม เรามักจะเห็นข่าวผู้ปกครองเอาของไปจำนำ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น ทองรูปพรรณต่าง ๆ เพื่อนำมาเตรียมจ่ายค่าเทอม แม้เห็นว่าผู้ปกครองยอมจ่าย แต่ความเป็นจริงแล้วผู้ปกครองอึดอัดใจมาก สำหรับคนมีเงินอาจจะจ่ายได้ แต่คนที่เป็นลูกจ้างรายวันหรือหาเช้ากินค่ำ และต้องหาเงินมาจ่ายเป็นหลักพันก็สร้างภาระให้เขาไม่น้อย เมื่อไม่มีเงินมาจ่าย นักเรียนก็จะถูกกดดันมาทางสถานศึกษา และอาจสูญเสียโอกาสทางการศึกษาได้ อย่างเช่น กรณีที่เคยมีข่าวนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ผูกคอตายที่จังหวัดสงขลา เพราะโดนครูห้ามเข้าเรียน เนื่องจากเป็นเด็กยากจน ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน” นายสมชาย กล่าว
ขณะที่ นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาดังกล่าวกระทบสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคควรจะต้องได้รับการศึกษาฟรี โดยที่รัฐเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ แต่การที่สถานศึกษาเรียกเก็บค่าบํารุงการศึกษา ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากการฟ้องครั้งนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น
“เด็กทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีจากรัฐโดยไม่ถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่การที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าบํารุงการศึกษา ทำให้เด็กที่มีสิทธิเข้าถึงระบบการศึกษา ต้องเกิดภาระค่าใช้จ่ายทั้งที่ไม่ควรมี หากเกิดการยกเลิกการเรียกเก็บค่าบํารุงการศึกษา จะทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช่จ่ายที่ไม่เป็นธรรม” นายโสภณ กล่าว