รมช.คมนาคม เผย รถไฟชั้น 3 ของ รฟท.ต้องติดแอร์ ส่วนค่าโดยสารอาจเพิ่มขึ้น ยอมรับกระทบคนรากหญ้า ชี้ยังไปใช้บริการฟรีผ่านบัตรสวัสดิการฯได้ ส่วนแผนจัดหาหัวรถจักรใหม่ อาจรอเทคโนโลยีที่ล่าสุดกว่านี้ ชี้ต่อไปรถไฟที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลควรไปวิ่งนอกเมืองให้หมด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการจัดหารถจักรล้อเลื่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเลือกเทคโนโลยีว่าจะใช้ไฮบริค หรืออะไรดี เพราะต่อไปกรุงเทพฯ ระบบรถไฟฟ้าจะมีราคา 20 บาท และระบบรถไฟฟ้าในกทม.ก็สมบูรณ์เกือบทั้งหมด รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์และรถแท็กซี่ก็จะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า(EV-Electric Vehicle) เพราะฉะนั้นขบวนรถไฟที่เข้ากรุงเทพฯ รวมไปถึงรถทัวร์ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ก็จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ก็ต้องไปอยู่นอกเมือง เว้นรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะต้องทำแผนกันต่อไป โดยคาดว่าภายในปี 2571-2572 น่าจะเกิดขึ้น
ส่วนทิศทางของการรถไฟแฟ่งประเทศไทย( รฟท.) ที่ควรใช้เทคโนโลยีไฮบริค นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อวิ่งอยู่นอกเขตก็ให้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปตามเดิม แต่เมื่อเข้าใกล้เขตกรุงเทพฯในรัศมี 100-200 กม. ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ ซึ่งก็วางเป้าหมายที่จะให้ไปถึงตรงนั้น และกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงแค่รถไฟ แต่ต้องรวมรถทัวร์ด้วย และอาจจะรวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลอย่างที่กล่าว ซึ่งจะต้องหารือเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีต่อไป โดยมีตัวอย่างที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีการเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ใครเข้ามาก็จ่ายภาษีตรงนี้แพงหน่อย
ขณะที่แผนการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในปัจจุบัน นายสุรพงษ์ระบุว่า กว่ารถไฟทางคู่ทั้งหมดจะแล้วเสร็จก็เกือบๆ 3 ปี ส่วนที่หลายคนมองว่า การดำเนินการล่าช้า ก็เพราะว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เปลี่ยนไว ยิ่งช้าจึงยิ่งแม่นและได้เปลี่ยน เชื่อว่าจะไปบรรจบตรงกันกับตอนที่โครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ ถ้าซื้อตอนนี้ก็เสียเงินเปล่า ซื้อมาจอด อย่างไรก็ตาม คาดว่าแผนการจัดหาจะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนจะได้กี่ขบวนยังตอบไม่ได้ เพราะข้อมูลที่มี เป็นข้อมูลเมื่อ 5-7 ปีที่แล้ว มันล้าสมัยแล้ว
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
@ยกระดับรถไฟชั้น 3 ติดแอร์ให้ได้
ส่วนการยกระดับการบริการของ รฟท. นายสุรพงษ์ระบุว่า มีแนวคิดจะยกระดับรถไฟชั้น 3 โดยให้รถโดยสารติดแอร์ทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนที่นั่งของ รฟท. แบ่งเป็น บริการเชิงสังคม 26 ล้านที่นั่ง ใช้ตู้รถไฟ 300-400 คัน แต่พบว่ามีผู้ใช้บริการจริงเพียง 18.6 ล้านคน ส่วนใช้บริการเชิงพาณิชย์ ความต้องการอยู่ที่ 9 ล้านที่นั่ง ซึ่งเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอยากจะปรับให้รถไฟชั้น 3 น้อยลง ดึงมาให้บริการเชิงพาณิชย์มากขึ้น แล้วให้ผู้ใช้รถไฟชั้น 3 เดิมทั้งหมด ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิก แต่กำลังยกระดับบริการมากกว่า ทั้งนี้ รถไฟชั้น 3 อยู่ในการจัดซื้อจัดจ้าง 40 คัน (ปีงบประมาณ 2567) จะสามารถรับครบทั้ง 40 คันในช่วงต้นปี 2567 และอีก 90 คัน จะใช้งบประมาณในปี 2568 จำนวน
อนึ่ง ปัจจุบันขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ใข้งานอยู่ที่ 130 คัน คิดเป็นจำนวนที่นั่งประมาณ 3.2 ล้านที่นั่ง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อถึงขบวนรถไฟท่องเที่ยวว่า จากเดิมที่จะมีขบวนรถไฟท่องเที่ยวเพียงวันเสาร์-อาทิตย์ ความตั้งใจตอนนี้คือ จะเพิ่มเป็น 4 วัน/สัปดาห์ ซึ่งจะได้รอบการท่องเที่ยวประมาณ 700 รอบ/ปี โดยต้องเอาอีเวนต์ทั่วประเทศมาประกาศให้ประชาชนทราบ เพื่อเกาะกระแสไปกับการท่องเที่ยว และปรับการจำหน่ายอาหารบนตู้รถไฟ โดยกำลังคิดรูปแบบอยู่ และที่สำคัญคือ จะแก้กฎหมายที่ไม่ให้ขายและบริโภคสุราบนรถไฟ ซึ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 กำหนดควบคุมไว้อยู่ ที่ระบุว่า ห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยจัดวางการรถไฟและทางหลวง โดยตอนนี้กำลังเร่งให้แก้ระเบียบนี้ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการบนรถไฟท่องเที่ยวมากขึ้น