‘พัชรวาท’วาง 3 กฎเหล็ก แก้ปมพิพาท‘ป่าทับลาน’ ยันเพิกถอนคืน ปชช. 5 หมื่นไร่ แก้ปัญหาที่ทำกิน ด้าน‘อธิบดีกรมอุทยานฯ’ย้ำยึดหลักความถูกต้อง ให้สิทธิ์คนอยู่ก่อน-เกษตรกรเดิม ปัดเอื้อนายทุน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 จากกรณีที่ทาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ประมาณ 2.6 แสนไร่ ซึ่งเปิดให้ลงความเห็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567 ภายหลังจากมีการนำเสนอข่าวออกไป เกิดกระแสวิพากษ์วิจารย์และคัดค้านจากสังคมไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อนำพื้นที่บางส่วนไปจัดสรรให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีข้อสั่งการด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการปมประเด็นข้อพิพากป่าทับลาน ดังนี้
-
ให้พิจารณาสิทธิชาวบ้านในการถือครองที่ดินทับซ้อน ส.ป.ก.ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุนนักการเมือง ถือครองเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน
-
ให้ความเป็นธรรมชาวบ้าน ที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 40 ปี เพื่อรับสิทธิที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อจะกันพื้นที่ให้ชัดเจนลดความขัดแย้งที่มีมายาวนาน
-
พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไป เพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ บทสรุปคือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้นที่เป็นชุมชนดั้งเดิม พื้นที่จะไม่ถึงกว่า 2.6 แสนไร่
พล.ต.อ.พัชรวาท ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จากนั้นจะรวบรวมส่งเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณา และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในภายใน 30 วัน โดยที่ดินของชาวบ้านในขณะนี้มีประมาณ 5 หมื่นไร่ที่เราจะดูแลชาวบ้านเป็นหลักก่อน ส่วนที่ดินทั้งหมดมีประมาณ 2.6 แสนไร่
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวถึงกระแสคัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำพื้นที่อุทยานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ เพราะอาจเป็นการเอื้อให้กับนายทุน ว่า เรารับฟังทุกเสียง เมื่อมีกระแสคัดค้านเราก็รับฟังและนำมาพิจารณา
รอ กก.เคาะ ย้ำยึดถูกต้อง ให้สิทธิ์คนอยู่ก่อน ปัดเอื้อนายทุน
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลา 40 ปี นับตัังแต่ปี 2524 และพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ต่อมาได้มีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและชุมชนโดยรอบไปใช้ประโยชน์ทำกิน 5.8 หมื่นไร่ ต่อมาได้ประกาศพื้นที่อุทยานไปทับกับพื้นที่ดังกล่าว ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ตรงนี้ออกจากเขตอุทยาน นำมาซึ่งการสำรวจพื้นที่ในปี 2543 กำหนดแนวเขตขึ้นใหม่ แต่ยังไม่สิ้นสุดตามกฎหมายทำให้พื้นที่ยังมีสภาพป่า
ทั้งนี้ รัฐบาลหลายชุดพยายามแก้ปัญหาให้ประชาชน จนมาถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติให้กันพื้นที่ชุมชนออกไปอยู่ ในความดูแลสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยครม. มีมติเห็นชอบตาม คทช. โดยยกเว้นบุคคลที่มีคดีความจะไม่ได้รับการคุ้มครองและยกเว้นในที่ดิน โดยเรื่องคดีนับวันที่เกิดเหตุว่าทำผิดหรือไม่
นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานที่เราเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศทางออนไลน์แล้วจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้วใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน โดยคณะกรรมการยึดหลักความถูกต้องและฟังเสียงทั้งหมดทุกประเด็นในการพิจารณา ทั้งการทำกินและการรักษาพื้นที่ป่า ทั้งนี้ พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มีทั้งชาวบ้านที่อยู่เดิม คนมาซื้อที่ต่อ และกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดี 1.2 หมื่นไร่ ต้องนำมาพูดคุยว่าจะพิจารณาอย่างไร
นายอรรถพล กล่าวตอบคำถามว่าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะพิจารณาให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมใช้ประโยชน์ก่อนใช่หรือไม่ว่า คนที่จะได้รับสิทธิ์ต้องมีคุณสมบัติ โดยชอบตามกฏหมาย แต่ทั้งหมดต้องรอรับฟังความเห็นและข้อยุติในคณะกรรมการอุทยานก่อน
"สถานภาพของพื้นที่ได้เท่ากัน แต่คุณสมบัติของคนที่จะได้รับไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิมบางคนมาซื้อเปลี่ยนมือ บางคนมากว้านซื้อทีหลังซึ่งน่าจะไม่มีสิทธิ์ เมื่อถามอีกว่า ผู้ที่เป็นเกษตรกรใช้ที่ดินทำกิน จะได้รับการพิจารณาจัดสรรก่อนใช่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ถูกต้อง นี่คือ หลักการการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ถือครอง" นายอรรถพล กล่าว
ส่วนกรณีที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ถูกมองว่าเป็นการเอื้อให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำรีสอร์ท นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยให้คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ และที่ดินส.ป.ก.ยังถือเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ใครใช้ประโยชน์จะต้องมีคุณสมบัติ หากคุณสมบัติไม่ถูกต้องจะถูกนำที่ดินกลับคืน ส่วนบุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จะไม่ได้รับการยกเว้น
ส่วนจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม. พิจารณายกเลิกมติครม. เดิม ที่ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ต้องรอความเห็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน
นายกฯ ชี้ปมพื้นที่ทับลาน เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิร นายกรัฐมนตรี เผยว่า เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงไปแล้ว ตนคงไม่มีอะไรนอกจากจะบอกว่า เรื่องนี้เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกำกับดูแล เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งสำคัญต้องคือรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนก่อนจะมีการเพิกถอน ซึ่งมีหลายกระบวนการที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย และนำเสนอ ครม. ต่อไป
นายเศรษฐา กล่าวถึงเรื่องที่สังคมอ่อนไหวกับข่าวที่มีนายทุนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทับซ้อน ว่า ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากจะมาทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ตนเข้าใจว่าพื้นที่ทับลานมีประชาชนที่เข้าไปอยู่กันอยู่แล้ว เมื่อถามว่าจำเป็นต้องยกเลิกมติ ครม. ปี 2566 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบในประเด็นนี้ว่า ยังไม่มี อยู่ระหว่างการศึกษา ต้องดูให้ครบขั้นตอนก่อน และเรื่องของ One Map ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาตรงนี้ด้วย