บัณฑิตคณะครุศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์ สอบบรรจุ 'ครูผู้ช่วย' ติดอันดับ 1 ของเขตพื้นที่การศึกษา 40 คน จาก 179 แห่ง ด้านอธิการบดีชี้เด็กเก่ง เผยสอบบรรจุได้ทุกปีแค่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 5 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการสอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2567 ได้อันดับที่ 1 เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ จำนวน 40 คน ทำให้มีคนเข้าไปแสดงความยินดี และชื่นชมเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงตำหนิ และตั้งข้อสงสัยว่ามีข้อสอบรั่ว หรือมีการทุจริตการสอบหรือไม่
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง รศ.มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว
รศ.มาลิณี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนของครุศาสตร์บัณฑิต 5 ปี ในจำนวนนี้ 1 ปีเต็ม จะมีการฝึกประสบการณ์ ถ้าภาคที่เรียน 4 ปีจะต้องฝึกประสบการณ์ครึ่งปี เรียกว่าโรงเรียนคู่ร่วมผลิต และมีการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาเรียน จะต้องมีเกรดอย่างน้อย 3.00 ขึ้นไป จึงจะเข้าเรียนแผนกครุศาสตร์ได้ ยกเว้นวิชาปฏิบัติ เช่น พลศึกษา, นาฎศิลป์, ดนตรี หรือศิลปศึกษา นักศึกษาต้องมีเกรดอย่างน้อย 2.75 ขึ้นไป และใช้ระเบียบนี้มาได้ 11 ปีแล้ว
รศ.มาลิณี กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่คัดเด็กเข้าเรียน เพราะเราคิดเสมอว่าอาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ของราชภัฏ เพราะครูมีหน้าที่สร้างคน ซึ่งจะต้องเลือกเอาคนที่มีจิตวิญญาณที่พร้อมที่จะมาเป็นครู กรณีที่มีคนพยายามกล่าวหาว่าข้อสอบรั่ว จะรั่วได้อย่างไร 19 จังหวัด เพราะข้อสอบแต่ละจังหวัดเป็นผู้ออก
ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่เป็นคนบุรีรัมย์ ยิ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะราชภัฏบุรีรัมย์ปลอดการเมือง และไม่มีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้านการศึกษาระดับนี้ เด็กที่สอบได้เป็นครูผู้ช่วย มีทั้งโรงเรียนทางภาคอีสาน ภาคกลาง ไม่เว้นภาคได้ สาเหตุที่คนมามองแบบนั้นเป็นการมองด้วยอคติ เพราะมองไม่เป็น ไม่ลึกพอ หรือจะมาศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ก็ได้ ที่โพสต์ประชาสัมพันธ์ไปเพราะต้องการประกาศให้รู้ทั่วกันว่าเด็กเราเก่ง ส่วนคนที่จะเข้ามาคอมเมนต์ต่างๆ ทางราชภัฏไม่ได้สนใจ เพราะทำถูกต้องและดีที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัณฑ์บุรีรัมย์สามารถสอบเข้ารับราชการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ทุกปี
"ต้องชื่อชมว่าเด็กเราเก่ง ปีที่ผ่านๆ มา เด็กเราก็สอบบรรจุติดหลายคน แต่มีปีนี้ที่มีการโพสต์แสดงความยินดีผ่านเฟซบุ๊ก เนื่องจากได้อันดับที่ 1 ถึง 40 คน ซึ่งมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเป็น 41 คนแล้วในขณะนี้ ส่วนเรื่องการทุจริตหรือข้อสอบรั่วไหล เป็นไปไม่ได้ เพราะสอบทั้งประเทศ ทั้งนี้จะต้องให้เครดิตเด็กเราด้วยว่าเป็นเด็กเก่งและมีความสามารถ และการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ก็มีคุณภาพและให้ความสำคัญในการผลิตครู เพราะเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับเด็กๆ" รศ.มาลิณี ระบุ
ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่นักศึกษาที่เรียนจบจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บุรีรัมย์ สอบแข่งขันเพื่อรับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยสอบได้ลำดับที่ 1 จำนวน 40 คน แต่มีคนกล่าวหาว่าข้อสอบรั่วหรือไม่ เพราะ จ.บุรีรัมย์ มี รมว.ศึกษาธิการ อยู่ จ.บุรีรัมย์ จึงขอให้สังคมอย่าใช้วิธีคิดด้วยการดูแคลนและกล่าวหาคนอื่นโดยไม่มีหลักฐาน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และการดูถูกด้อยค่าไม่มีกฎหมายฉบับไหนอนุญาตให้ทำได้ เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน
นายคารมกล่าวว่า คนที่กล่าวหานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ว่าเขาทุจริตแบบไร้ความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความเมตตาธรรม โดยไม่คิดอีกมุมว่าครอบครัวเขาอาจทุ่มเท ส่งเสียลูกหลานเพื่อจบแล้วจะได้มีงานทำ เป็นครูที่ดีและมีโอกาสมาสอนลูกหลานของท่าน เด็กเหล่านี้อาจมีครอบครัวที่ยากจน แต่พยายามในการเรียน และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนถึง 5 ปี ที่ทำให้เด็กเหล่านี้เก่งได้
“คนที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยการกล่าวหาแบบไร้หลักฐาน มีแต่จินตนาการและด้อยค่าคนอื่นควรถูกประณาม โดยคนเก่งในต่างจังหวัดมีแทบทุกจังหวัด ไม่เฉพาะ จ.บุรีรัมย์ การวิพากวิจารณ์ประชาชนแบบนี้ไม่มีผลดี มีแต่สร้างความแตกแยก และหากมีตรรกะวิบัติ คนในสังคมใช้วิธีคิดแบบนี้กล่าวหาคนอื่น ด้อยค่าและมองคนไม่เท่าเทียมกันแบบนี้สังคมจะอยู่ได้หรือ” นายคารมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคล เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 'ตำแหน่งครูผู้ช่วย' ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี พ.ศ.2567
โดยการสอบแข่งขันพร้อมกันทั่วประเทศ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบแข่งขัน โดยจะจัดสอบทั้งสิ้น 179 แห่ง อัตราว่างบรรจุ รวม 4,399 อัตรา
เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 8 - 14 พ.ค. 2567
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ภาค ก และ ภาค ข วันที่ 24 พ.ค. 2567
สอบข้อเขียนภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 8 มิ.ย. 2567
สอบข้อเขียนภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 9 มิ.ย. 2567
ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน ภาค ก และ ภาค ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค วันที่ 14 มิ.ย. 2567
ส่วนการสอบสัมภาษณ์ และแฟ้มสะสมผลงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพ รวมทั้ง สอบภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา และประกาศผลการสอบแข่งขัน จะจัดภายในเดือน มิ.ย.2567 แล้วแต่เขตพื้นที่การศึกษาหรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษกำหนด