ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยโทษอาญา พ.ร.บ.กการใช้เช็ค ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำโต้แย้งเพิ่มเติมของนายวิชา เบ้าพิมพา จำเลยที่1และน.ส.อนา วงศ์สิงห์ จำเลยที่2 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1571/2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่
เนื่องจากกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ออกเช็คในความผิดซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงเป็นความผิดเล็กน้อยและยอมความได้ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นความผิดทางแพ่งซึ่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนว่าด้วยตั๋วเงินใช้บังคับอยู่แล้ว
โดยเจ้าหนี้มักใช้โทษทางอาญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ข่มขู่ดำเนินคดีอาญากับผู้ออกเช็ค ทำให้ผู้ออกเช็คต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ถูกควบคุมตัว หรือขัง ตลอดจนถูกลงโทษปรับหรือจำคุก กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัวเพียงเพราะเหตุไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1958 ข้อ 11 (2) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 11 และทำให้เกิดต้นทุนแก่ภาครัฐที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทางแพ่งให้แก่เอกชนเพียงบางราย อีกทั้งยังจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลระหว่างผู้ใช้เช็คกับผู้ใช้ตั๋วเงินประเภทอื่นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากมีเพียงเช็คเท่านั้นที่มีโทษทางอาญา
นอกจากนี้ ผู้ออกเช็คที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อฉลหรือต้องการใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยขน์โดยไม่ขอบแต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทันยังอยู่ในข่ายต้องรับผิดทางอาญาเนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการไม่มีเงินชำระหนี้เป็นเพราะเหตุใด
ทำให้เกิดปัญหาลงโทษผู้กระทำที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริต บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อหลักนิติธรรมเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลขัดต่อหลักความเสมอภาค และขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่ามาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญาของกม.ดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต และมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง