‘แสวง บุญมี’ เผย กกต.เตรียมตรวจสอบเอกสารสมัครทั้ง 40,000 รายเข้าข่ายแจ้งเท็จหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 มิถุนายน 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า สิทธิสมัครรับเลือก...สมัครเป็นเท็จ...รับจ้างสมัคร...คดีที่น่าสนใจในการเลือกลงกลุ่ม...
ศาลฏีกาได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ลต สว 185/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ลต สว 169/2567 ว่า
"การที่ผู้คัดค้าน(ผอ.เลือกระดับระดับอำเภอ)รับสมัครผู้ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเกลือเป็นไปตามที่ผู้สมัครดังกล่าวประสงค์เข้ารับเลือกในกลุ่มที่ 5 (กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน) ซึ่งผู้คัดค้านได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่มตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อันเป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของผู้สมัคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้อง(ผู้สมัครที่ไปร้องที่ศาลฎีกา)จะยื่นคำร้องเป็นคดีนี้จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง"
เมื่อพิจารณาแล้วพอจะคเนได้ว่า สิทธิการรับสมัคร เป็นคนละส่วนกับเอกสารสารรับสมัครเป็นเท็จ หรือ เอกสารสารประกอบการสมัคร (สว.3) เป็นเท็จ เช่น ในใบ สว. 3 บอกว่าทำนาเกลือ แต่ในความเป็นจริงเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ทำนาเกลือแต่อย่างใด ลักษณะนี้จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นต้น
กรณี เอกสารรับสมัครด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ กกต. ต้องตรวจสอบผู้สมัครทุกรายทั้ง 4 หมื่นกว่าคน ถ้าพบว่ามาสมัครด้วยการการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 74 รู้ว่าตนไม่มีสิทธิแต่ก็มาสมัครรับเลือกตั้ง
อนึ่ง กรณีการรับจ้างสมัคร แม้เอกสารการรับสมัครถูกต้องสมบูรณ์ แต่ถ้ารับจ้างมาสมัครก็เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากด้วย...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกกต.ออกข่าวแจกเรื่อง การดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามก่อนประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เนื้อความมีดังนี้
ด้วยผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้แจ้งผลการนับคะแนนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จะประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษาและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอเรียนว่า ก่อนประกาศผลการเลือก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาและผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครทั้งหมด ว่าทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาชื่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 หรือไม่
ซึ่งเป็นกระบวนการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายหลังจากการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในการรับสมัครที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
อนึ่ง กรณีการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนและไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดพ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งกรณีดังกล่าวมีขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการตามที่ระเบียบกำหนด