ป.ป.ช.ชี้มูลอดีต นภาภรณ์ ทองมี จนท.บัญชีฯ อบต.ตลิ่งชัน อยุธยา ร่ำรวยผิดปกติ ได้เงินเดือน 3 ปี 5.5 แสน แต่มีทรัพย์สินเงินสดเพิ่มขึ้น 1.2 ล เงินฝากเข้า 3 บัญชี 8.3 แสน รวม 2.1 ล้าน ส่งเรื่องอสส.ฟ้องศาลฯ สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นางสาวนภาภรณ์ ทองมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2552 ขณะนางสาวนภาภรณ์ ทองมีดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับเงินเดือนจากองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน รวมเป็นเงินจำนวน 550,560 บาท และไม่มีรายได้อื่น แต่มีทรัพย์สินเป็นเงินสดเพิ่มขึ้น จำนวน 1,273,625 บาท และมีรายการฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง จำนวน 3 บัญชี รวมเป็นเงิน 830,991.87 บาท ซึ่งเกินกว่ารายได้ที่ได้รับ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า นางสาวนภาภรณ์ ทองมี ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,104,616.87 บาท
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่กรณี ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลา
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด