ครม.เห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกม.วิธีพิจารณาความแพ่งฯ’ ลดค่าธรรมเนียม ช่วยเหลือลูกหนี้ 'คดีแพ่ง-คดีล้มละลาย' หนุน ‘คู่ความ’ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
...........................................
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อลดหรือยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
เช่น ลดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดเหลือ 2% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย จากปัจจุบันเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 3% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย ,ลดค่าธรรมเนียมจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ 1% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด จากปัจจุบันที่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด
รวมทั้งให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว แต่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย จากปัจจุบันที่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% ของราคาทรัพย์สินที่ยึด เป็นต้น
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ และทำให้ลูกหนี้จำนวนมากต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ และมีความรับผิดตามสัญญาหรือตามกฎหมายหลายประการ ส่งผลให้มีปริมาณการฟ้องร้องบังคับคดีเพิ่มมากขึ้น ทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลาย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม จึงสมควรต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาโดยเร่งด่วน
แต่เนื่องจากตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงเกินไป ทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมบางประการที่ไม่จำเป็น เช่น การยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือการอายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งนี้ การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว สามารถช่วยสนับสนุนให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในการเจรจาชำระหนี้ โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกขายทอดตลาดและสร้างความยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม” นายคารม กล่าว
นายคารม ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กรมบังคับคดีได้สำรวจข้อมูลจำนวนค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2567 (ข้อมูลถึงเดือน ม.ค.2567) มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 6,842.9 ล้านบาท และเมื่อคำนวณเฉพาะค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ยกเลิก พบว่ามีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียาม 95.46 ล้านบาท คิดเป็น 1.40% ของค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด