นายกฯเผยพรุ่งนี้ (26 มิ.ย. 67) มีประชุมก.ตร. วาระ 'บิ๊กโจ๊ก' มีพิจารณา ยังไม่ตัดสินใจจะให้คืนรังหรือไม่ ชี้ทุกคนรู้หน้าที่ดีอยู่แล้ว ด้าน 'ที่ปรึกษาของนายกฯ มองบิ๊กโจ๊กประกาศฟ้องร้องบุคคลหลายฝ่าย ถือเป็นเรื่องบุคคล ชี้ควรรอขั้นตอน ก.พ.ค.ตร.ให้จบดีกว่า อีกเพียง 1 เดือน ปัดตอบมีลุ้นขึ้น ผบ.ตร.ชี้ตอบตามคำถามนักข่าวเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในวันนี้ (25 มิ.ย. 67) มีรัฐมนตรีแจ้งลาประชุม 3 คน ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ผู้สื่อข่าวสอบถามนายกฯก่อนประชุมครม.ถึงกรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ประกาศฟ้องทั้งในส่วนของนายกรัฐมนตรีและนายตำรวจระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรณีที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายกรัฐมนตรีหันมายิ้มให้กับผู้สื่อข่าว ก่อนกล่าวว่า ยึดมั่นตามกฎหมาย
ต่อมา หลังประชุมครม.แล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้อีกครั้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า วันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 15.00 น. จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยอมรับว่า มีประเด็นเรื่องการกลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ได้ของ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องกลับหรือไม่กลับเพียงอย่างเดียวเพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายด้วย คณะกรรมการที่พิจารณาทางวินัย กับคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.)ก็จะนำข้อมูลต่างๆมาร่วมพิจารณาซึ่งจะต้องฟังให้รอบด้าน
@เข้าใจ บิ๊กโจ๊ก ไม่มองว่าขู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ระบุว่า หากไม่ได้กลับเข้าปฎิบัติหน้าที่ใน สตช.จะดำเนินการฟ้องร้องนายกฯ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องของการทบทวนแก้ไขปัญหาต่างๆ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนก็เห็นว่าเราพยายามแก้ไข แต่มีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องทำ ซึ่งการประชุมก.ตร.ในวันพรุ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องเข้าประชุมเพื่อรับฟัง ส่วนกรรมการวินัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และเชื่อว่าถ้าเรื่องเหล่านี้จบลงแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ตนเข้าใจและเห็นใจทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เราเองก็ไม่ได้มีความลำเอียงเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เมื่อถามย้ำว่า เป็นการขู่หรือไม่ที่ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ จะดำเนินการฟ้องร้อง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่า พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ มีความเดือดร้อนและร้อนใจ แต่ผมเชื่อว่า ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้วยกัน เราก็เข้าใจถึงความร้อนใจ และผมเองไม่ได้มองว่าเป็นการขู่ครับ”
เมื่อถามว่า อยากให้ภายใน สตช.มีความปรองดองช่วยกันทำงานเพื่อประชาชนแต่สิ่งที่ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ดำเนินการ คือ จะฟ้องร้องทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จะปรองดองได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องของความปรองดองจากทุกฝ่าย ตนอยากเอาเป็นแค่ทางผ่านอันหนึ่ง แต่จุดประสงค์ใหญ่ที่อยากให้มีความปรองดองก็เพื่อที่จะให้มีการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาเยอะเหลือเกิน แต่เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเราจะก้าวข้ามผ่านไปได้ และหวังว่าทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องของขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายทั้งหลาย ทั้งนี้กรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆจากทุกฝ่าย ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป
@ทุกคนรู้หน้าที่คืออะไร
เมื่อถามว่า นายกฯในฐานะกำกับดูแล สตช.จะให้กำลังใจ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างไร เพราะถูกหางเลขไปด้วยในขณะที่ทำหน้าที่รักษาการแทน ผบ.ตร. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ เอง เชื่อว่า ทุกคนก็มีปัญหาอยู่แล้ว
“ผมอยากจะขอว่า ทุกท่านเองก็มีวุฒิภาวะสูงอยู่แล้ว เรื่องของปัญหาส่วนตัว ก็จะต้องมีการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมาย ผมอยากให้ทุกท่านสำนึกว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเรื่องสำคัญ ผมเชื่อว่าเรื่องของกำลังใจ และทุกท่านก็อยู่ในหน้าที่การงานมา 30 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านรู้ว่าหน้าที่คืออะไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
@เผย 'บิ๊กต่อ' มาประชุมด้วย
เมื่อถามว่า นายกฯมีหลักการอย่างไรที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งเพราะเป็นปัญหาของตำรวจระดับชั้นผู้ใหญ่ใน สตช. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่พลตำรวจเอกต่อศักดิ์เข้ามาดำรงตำแหน่ง และถ้าหากกลับไปดูก็จะเห็นว่าตนให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติอย่างไร ก็จะเห็นว่าเรื่องทุกข์สุขของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
เมื่อถามต่อว่า ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวหรือไม่กับ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ และ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ไม่มีครับ” แต่ในการประชุม ก.ตร. พรุ่งนี้ ถ้าเจอก็จะพูดคุยกัน เพราะเข้าใจว่าพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ ก็จะเข้าร่วมประชุมด้วยด้วย และก็จะมีการพูดคุยในคณะกรรมการ ก.ตร.ด้วย
”และความจริงแล้วในคณะกรรมการผมก็เป็นเพียงแค่หนึ่งเสียง แม้จะเป็นประธานก็จริงแต่ก็มีคณะแต่ก็มีคณะกรรมการก.ตร. หลายๆท่านซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ สูงสุดเป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดทั้งนั้นใน สตช. ซึ่งก็ต้องรับฟังความเห็นของพวกท่านเหล่านี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
@ควรใช้ช่องทาง ก.พ.ค.
ด้านนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีสิทธิ์ฟ้องร้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว ข้อสำคัญคือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีช่องทางที่จะบำบัดและเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งการฟ้องนายกรัฐมนตรีก็คงเป็นหนึ่งในช่องทางนั้น แต่การตอบนี้ไม่ได้ตอบว่าฟ้องได้หรือไม่ ควรหรือไม่ควร เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งนี้ นอกจากการฟ้องร้องแล้ว ยังมีช่องทางในการร้องเรียนที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ของหน่วยงานสตช. ซึ่งเขียนไว้ว่า ถ้าใครรู้สึกได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา ก็ให้ร้อง ก.พ.ค.ได้ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ได้ร้องช่องทางนี้แล้ว และคงวินิจฉัยอีกประมาณ 1 เดือน
เมื่อถามว่า แสดงว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ควรรอการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.หรือไม่ นายวิษณุระบุว่า ทุกคนทุกฝ่ายควรรอ เว้นแต่ทาง สตช.จะแก้ไขเยียวยาให้ ซึ่งใช้เวลาพิจารณานาน แต่น่าจะไม่เกิน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์อ้งมติครม.ปี 2482 ว่าหน่วยงานใดที่ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องปฏิบัติตามนั้น นายวิษณุกล่าวว่า มีมติดังกล่าวจริง เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งก็มีการยึดปฏิบัติจนถึงวันนี้
เมื่อถามอีกว่า แสดงว่า หาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็สามารถจะชนะคดีความหรือไม่ ที่ปรึกษของนายกรัฐมนตรีตอบว่า ความเห็นของกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการของนายฉัตรชัยว่าอย่างไร เพียงแต่มีผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีโอกาสเป็น ผบ.ตร.ไหม ก็ตอบตามกฎหมานก็ต้องตอบว่ามี เพราะระดับพล.ต.อ. ขึ้นตำแหน่งรองผบ. จเรตร.ก็ม๊โอกาสเป็น แต่สุดท้ายใครจะได้เป็นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแถลงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดูท่าจะไม่จบ มีการเอาไปฟ้องร้องต่อยอดนั้น นายวิษณูกล่าวว่า ถ้ามีการฟ้องร้องกันก็ถือเป็นคดีใหม่ไป คดีเก่าที่มีมาก็จบไปในส่วนนั้น ส่วนต่อไปหลังจากนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร หรือแม้แต่ สตช. ควรใช้ช่องทาง ก.พ.ค.อย่างที่บอก ถ้าไม่พอใจคอยไปฟ้องศาลปกครอง