ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้ให้อดีตนายอำเภอปราสาท จ.สุรินทร์ ชนะ คดีฟ้องถูกปลดออกจากราชการไม่เป็นธรรม กรณีจัดซื้อยาฆ่าแมลง ปี 2554-2555 สั่งอธิบดีกรมการปกครอง-ปลัดมท.คืนตำแหน่งในโอกาสแรกที่อาจกระทําได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดเผยแพร่คำพิพากษาเกี่ยวกับคดีที่ นายวีระเกียรติ รัมณีย์รัตนากุล อดีตนายอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินวินิจฉัยว่า การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 ของจังหวัดอุบลราชธานี มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้ การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และมีข้อสังเกต เกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้ลิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ในโอกาสแรกที่อาจกระทําได้
@ ที่มาของคดี
กรณีเนื่องจากสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินวินิจฉัยว่า การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 ของจังหวัดอุบลราชธานี มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดสรรเงินทดรองราชการให้อําเภอนาตาล เพื่อจัดซื้อสารเคมีกําจัดศัตรูพืชแจกจ่ายแก่ราษฎร แต่ในกระบวนการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าว มิได้มีการสอบถามราคาซื้อขายสารเคมีในท้องตลาดในท้องที่ที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ไม่มีการเสนอราคาจากผู้ขาย และไม่มีการเจรจาต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้ขาย ไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546
ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดี ระบุในคำฟ้องว่า เดือนธันวาคม 2554 ผู้ฟ้องคดีย้ายมาดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล ได้จัดซื้อสารเคมีเพียง 1 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง และ อําเภอนาตาลได้รับจัดสรรเงินทดรองราชการ เป็นเงิน 2,900,000 บาท ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ ใช้จ่ายเงินทดรองราชการในการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl ขนาด 500 ซีซี ราคาขวดละ 1,450 บาท จํานวน 2,000 ขวด รวมเป็นเงิน 2,900,000 บาท ตามราคาที่เคยซื้อ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และแต่งตั้งนางมยุรี พูลชาติ เสมียนตราอําเภอ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ
ผู้ฟ้องคดีจึงอนุมัติจ่ายเงินตามมติของ ก.ช.ภ.อ. นาตาล ภายในวงเงินที่จังหวัดอุบลราชธานีจัดสรรให้ ผู้ฟ้องคดีได้กําชับนางมยุรีให้สอบถามราคาสารเคมี ในท้องตลาดหรือสืบค้นราคาจากอินเทอร์เน็ต และให้แจ้งผู้มีอาชีพขายสารเคมีมาเสนอราคา อย่างน้อย 3 ราย เพื่อเปรียบเทียบราคาและเสนอราคา และรายงานผลเสนอผู้ฟ้องคดีก่อนทําสัญญาซื้อขาย ซึ่งนางมยุรีอ้างว่าได้แจ้งผู้มีอาชีพขายสารเคมี ให้มาพบเจ้าหน้าที่จัดหาต่อรองและตกลงราคาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ ที่ทําการปกครอง อําเภอนาตาล จํานวน 3 ราย และนางมยุรีได้ทําบันทึกข้อความลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด เสนอราคา 2,904,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจํากัด เมืองเลย เพิ่มทรัพย์รุ่งเรือง เสนอราคา 2,912,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจํากัด รับทรัพย์รุ่งเรือง เสนอราคา 2,916,000 บาท พร้อมกับแนบใบเสนอราคา และเอกสารอื่นประกอบ
โดยนางมยุรีได้เสนอข้อเสนอและพิจารณาว่าได้เจรจาต่อรองราคา กับผู้เสนอราคาต่ําสุด คือ ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด ลดราคาให้ 4,000 บาท คงเหลือ 2,900,000 บาท ไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร อีกทั้ง ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด ก็มีคุณสมบัติ ครบถ้วน ทั้งราคาไม่สูงกว่าราคาในท้องถิ่นและไม่เกินวงเงินที่อนุมัติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้พิจารณา โดยละเอียดรอบคอบแล้ว จึงลงนามให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่านางมยุรีได้จัดหาและตกลงราคาแล้ว และผู้ฟ้องคดีไม่ทราบราคาสารเคมี Pirimiphos methyl
ประกอบกับนางมยุรีอ้างว่าไม่สามารถสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต และไม่สามารถสอบถามราคาในท้องที่ได้ เนื่องจากอําเภอนาตาลไม่มีร้านจําหน่ายสารเคมีดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคําให้การพยานที่เป็นเกษตรกรในอําเภอนาตาล จึงได้ยึดเอาราคาของจังหวัดอุบลราชธานีและราคาที่อําเภอนาตาล เคยซื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งราคาที่คณะกรรมการสอบสวนอ้างอิงเป็นข้อมูลจากกรมการค้าภายใน โดยมีหมายเหตุว่า มีการแจ้งราคาจําหน่าย ณ โรงงาน เพียงรายเดียว ราคาจําหน่ายจึงแตกต่างกัน เนื่องจากมีต้นทุนนําเข้าและค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน
อีกทั้ง เป็นข้อมูลย้อนหลังไปถึง 4 ถึง 5 ปี อาจมีความคลาดเคลื่อน จึงไม่อาจใช้เป็นราคาที่แท้จริง ส่วนผลการตรวจสอบราคา ของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสอบสวนได้อ้างอิงในรายงานการสอบสวนเป็นการตรวจสอบร้านค้าที่จําหน่ายสารเคมีที่มิได้อยู่ในท้องที่อําเภอนาตาล แต่ตั้งอยู่ที่อําเภอ วารินชําราบ และอําเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ห่างจากอําเภอนาตาลไม่ต่ํากว่า 120 กิโลเมตร ราคาอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่อาจใช้เป็นราคาที่แท้จริง จึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี
เมื่อได้พิจารณาสถานการณ์ขณะที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นและจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน โดยคํานึงถึงศักยภาพของผู้ขายที่สามารถหาสารเคมีปริมาณมากและรวดเร็ว โดยกําหนดส่งมอบภายใน 5 วัน รวมกับต้นทุนการนําเข้าและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ผู้ขายอาจถือโอกาสเสนอราคาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่เคยรู้ถึงการกระทําดังกล่าวของนางมยุรี และไม่ปรากฏหลักฐานสนับสนุนหรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ฟ้องคดีรู้ถึงการกระทําของนางมยุรี หรือ มีพฤติการณ์เข้าไปแทรกแซงหรือบีบบังคับมิให้มีการเจรจาต่อรองราคา หรือสั่งให้กระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าหากไม่มีการเจรจาต่อรองราคาย่อมไม่มีการลดราคา จำนวน 4,000 บาท และผู้เสนอราคาย่อมไม่สามารถทราบจำนวนสารเคมีที่จัดซื้อก่อนยื่นเสนอราคาได้
อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับอําเภออื่น และการจัดซื้อครั้งที่ผ่านมาของอําเภอนาตาลมิได้มีความแตกต่างด้านราคา และตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้ระบุชัดเจนว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างไร แต่กลับใช้ข้อเท็จจริงจากถ้อยคําของนางมยุรีเป็นหลักฐานกล่าวโทษผู้ฟ้องคดี แต่ในการดําเนินการทางวินัยกับนางมยุรีกลับวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของนางมยุรีไม่ใช่ผลโดยตรงในการจัดซื้อสารเคมีสูงกว่าราคาท้องตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ทําให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งไม่ปรากฏว่านางมยุรีได้กระทําไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง จึงลงโทษนางมยุรีเพียงลดเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 4 จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขณะที่ ศาลปกครองชั้นต้น พิจารณาแล้วว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่พอฟังว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง พิพากษาเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 เรื่อง ลงโทษปลดออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้สิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอุทธณ์ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ตามข่าวข้างต้น