สำนักงานศาลยุติธรรมส่งหนังสือเวียนด่วนที่สุด แจ้งกฎหมายฟ้องชู้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับหรือพ้น 360 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือเวียนด่วนที่สุด ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า กฎหมายแพ่งพาณิชย์ที่ให้สามี-ภริยา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้ทุกกรณียังมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับหรือพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
โดยหนังสือมีรายละเอียด ดังนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ สามี-ภริยา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้ทุกกรณีขัดรัฐธรรมนูญ กำหนดบังคับให้คำวินิจฉัยมีผล เมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
ด้วยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "สามีจะเรียกคำาทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม (ความเท่าเทียมระหว่างเพศ)โดยกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพัน 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ดังนั้น ต้องถือว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับหรือพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในระหว่างนี้คดีต่าง ๆ ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรือฟ้องเข้ามาใหม่ ยังคงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง ต่อไป
อนึ่ง บทบัญญัติที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขโดยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว
สำนักงานศาลยุติธรรมขอแจ้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาเพื่อทราบ และขอได้โปรดแจ้งให้บุคลากรในหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทราบในโอกาสแรกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ ซึ่งล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม และกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
โดยคดีดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231(1) ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่