'เศรษฐา'แถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ย ปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้าน ย้ำดำเนินตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ปั้นซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว ยัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ได้ปลายปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท ในวาระรับหลักการ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำทีม ครม.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายเศรษฐา กล่าวชี้แจงถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีจุดมุ่งหมายที่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว
ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 0.7–1.7 ช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับฐานรากกระจายไปทั่วประเทศ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้ภาครัฐ เพื่อใช้ในลงทุนสร้างขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป
นายเศรษฐา กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกปี 2567 การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ มีเป้าหมายจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน รัฐบาลมีแผนให้ปี 2568 เป็นปีท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มนักท่อง เที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต การแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่า รวมกว่า 850,000ล้านบาทในปี2566 สูงสุดในรอบ 9 ปี หลายบริษัทในอุตสาหกรรมชั้นสูงแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรายได้จากรัฐพาณิชย์ที่เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะมีรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท บวกเงินกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลงบประมาณอีก 865,700ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
นายเศรษฐา กล่าวว่า ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 มีจำนวน 11.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ภายใต้กรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ไม่เกินร้อยละ 70
ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง วันที่ 30 เม.ย.2567 มี 430,076 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความท้าทายการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการผลิต ที่เผชิญความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 31 ธ.ค.2566 อยู่ที่ 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก
“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรฐากล่าว