'เศรษฐพุฒิ' ค้านข้อเสนอ 'รัฐบาล-ก.คลัง' ปรับ 'กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ' สร้างความเสี่ยงต่อ 'เศรษฐกิจไทย' ชี้อาจทำให้ 'ราคาสินค้า' ปรับตัวขึ้นเพิ่มขึ้นเร็ว ทำต้นทุน 'กู้ยืมเงิน' สูงขึ้น พร้อมย้ำ 'ดอกเบี้ยนโยบาย' ตอนนี้เหมาะสมแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ 'สำนักข่าวบลูมเบิร์ก' ที่กรุงเทพฯ โดยนายเศรษฐพุฒิ แสดงความเห็นคัดค้านต่อข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่เสนอแนะให้มีการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยชี้ให้เห็นว่า จะสร้างความเสี่ยงต่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ การผลักดันการเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ต้นทุนการกู้เงินพุ่งสูงขึ้น
“กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนี้และได้ผลดี" นายเศรษฐพุฒิ กล่าวและย้ำว่า ความเสี่ยงในการปรับเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อจากช่วง 1-3% ณ เวลานี้ ก็คือ "จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงเริ่มปรับตัวขึ้น"
ความเห็นของนายเศรษฐพุฒิ ตอกย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากธนาคารกลางที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการลดต้นทุนการกู้ยืม
ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางดังกล่าว ได้เพิ่มความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง และส่งผลทำให้กองทุนทั่วโลกทยอยถอนเงินออกจากพันธบัตรและหุ้นของประเทศไทยไปแล้ว 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.43 แสนล้านบาท ในปีนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ออกมากล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มกรอบเป้าหมาย หลังจากประเทศไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 6 เดือน จนถึงเดือน มี.ค.2567 ขณะที่ผู้เฝ้าสังเกตุการณ์ตลาดไทยมองว่า นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณไปถึงหน่วยงานที่มีอำนาจในด้านนโยบายทางการเงินเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม
แต่นักวิเคราะห์หลายคนรวมถึงนางทามารา เฮนเดอร์สัน จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า วิธีการนี้ไร้ประโยชน์ และมีแต่จะทำให้ความพยายามในการควบคุมค่าครองชีพซับซ้อนขึ้นไปอีก
"เคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มว่า จะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมสำหรับทั้งรัฐบาลและประเทศในภาพรวม" นายเศรษฐกิจ กล่าวก่อนที่จะมีการทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะขึ้นในเดือน ส.ค. และในเดือน ก.ย.นี้
ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าได้กลับไปสู่กรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งใจไว้ และกระตุ้นให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบาย (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เป็นครั้งที่สี่ติดต่อกัน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่ 1.1% ในช่วงครึ่งปีหลัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยโต้แย้งว่า การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การทำให้ต้นทุนการกู้ยืมมีราคาถูกลง สิ่งที่เศรษฐกิจต้องการ คือ การกระตุ้นการเติบโตให้มีศักยภาพ
“อัตรา (ดอกเบี้ยนโยบาย) ปัจจุบันเหมาะสมแล้ว สำหรับการทำให้เรากลับไปมีศักยภาพในระยะยาว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวและย้ำว่า “แต่ถ้าแนวโน้มเปลี่ยนไปจากที่เราคาดไว้ เราก็ยินดีที่จะปรับตัว เราไม่ได้ยึดติดกับมัน และมันไม่ใช่การดันทุรัง”
ทั้งนี้ อัตราค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 36.762 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เวลา 14.31 น.ตามเวลาที่ประเทศไทย หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำผลงานได้แย่สุดเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่น
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีระดับความอดทนต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทสูงกว่าเมื่อก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเผชิญกับการปรับสมดุลที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากต้องพยายามปรับปรุงการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับทั้งวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงระดับหนี้ที่สูงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ว่า เป็นปัญหาที่จะไม่หายไปในเร็วๆ นี้
“มันเหมือนโรคเรื้อรังมากกว่าโรคเฉียบพลัน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าวและว่า "มันน่าจะคงอยู่ไปอีกนาน และยากที่จะแก้ไข แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะนําไปสู่วิกฤติ”
อัตราเงินเฟ้อไทย
เมื่อถามถึงแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตรา และภัยคุกคามต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หลายประเทศมีนโยบายที่ให้ความเป็นอิสระกับธนาคารกลาง จะทำให้ทำงานได้ดีกว่าในแง่ของผลลัพธ์สำหรับอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน
“เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์ชัดอยู่แล้ว” นายเศรษฐพุฒิกล่าว ในขณะที่วาระของเขาในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะหมดลงในเดือน ก.ย.2568
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ในสมัยที่ 2 แต่นายเศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า จะไม่ลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง เพราะว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว