‘ศาลปกครอง’ พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คดี ‘สินมั่นคงฯ’ ฟ้อง ‘เลขาฯ คปภ.’ ปมออกคำสั่งยกเลิกสิทธิ ‘บอกเลิก’ กรมธรรม์โควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ชี้บริษัทประกันฯ ยกเลิกกรมธรรม์ โดยอ้างเหตุ ‘ขาดทุน-จ่ายเคลมสูง’ ไม่ได้ หาก ‘ผู้เอาประกัน’ มิได้ปฏิบัติผิดสัญญา
................................
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 752/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1157/2567 ระหว่าง บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (ผู้ฟ้องคดี) กับเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณี คปภ. มีคำสั่งให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19
โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป และผู้เอาประกันภัยมีสถานะเป็นผู้บริโภค ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การตีความหรือการนำเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบ เจอ จ่าย จบ ไปใช้เพื่อนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาประกันภัย
จึงอยู่ภายใต้ มาตรา 4 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่าย ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น วรรคสาม บัญญัติว่า ข้อตกลงที่มีลักษณหริอมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (1)... (3) ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ (4)...
ฉะนั้น บริษัทประกันภัย รวมถึงผู้ฟ้องคดี จึงไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบ เจอ จ่าย จบ โดยอ้างเหตุขาดทุน จ่ายเคลมสูง หรือความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยฝ่ายผู้เอาประกันมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญได้
ดังนั้น การที่แบบหรือข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบ เจอ จ่าย จบ มีข้อตกลงให้บริษัทประกันภัย รวมถึงผู้ฟ้องคดี มีสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน จึงมิได้ให้ หมายความว่า ฝ่ายบริษัทประกันภัย รวมถึงผู้ฟ้องคดีจะสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ หรือด้วยเหตุผลใดตามอำเภอใจที่ตนต้องการก็ได้แต่อย่างใด
จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย สั่ง ณ วันที่ 16 ก.ค.2564 โดยให้ใช้บังคับกับสัญญาประกันภัยที่เกิดขึ้นและยังมีความคุ้มครองอยู่ในวันที่คำสั่งดังกล่าวใช้บังคับ เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้เอาประกันภัยจากสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าว
และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมถึงเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธุรกิจประกันภัยโดยรวม เป็นการกระทำที่ชอบด้วยมาตรา 20 (2) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ.2550 มาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ประกอบกับมาตรา 49 วรรคสอง และมาตรา 53 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (บมจ.สินมั่นคงประกันภัย) ฟ้องว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ 1 กับพวกรวม2 คน กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาประกันภัยโดยมีเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ตามรูปแบบที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดทั้งสอง
แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 ลว.16 ก.ค.2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ทำให้ผู้ฟ้องคดียังคงมีหนี้ที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย อันเป็นการแบกรับภาระโดยไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ อันเนื่องมาจากการไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงนำคดีมาฟ้อง
อ่านประกอบ :
‘ศาล ปค.’นัดอ่านคดี‘สินมั่นคงฯ’ฟ้อง‘เลขาฯคปภ.’ยกเลิกสิทธิ‘บอกเลิก’กรมธรรม์โควิด 18 มิ.ย.