เผยเหตุผลศาลอาญา อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดี คดี ม.112 พ่วงข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด อายุมาก มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว แถมโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แต่ให้ยึดหนังสือเดินทาง ทำสัญญาห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.orgX รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567 ศาลอาญา ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุเหตุผลการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาในคดีฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8
โดยศาลฯ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์การณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด อายุมาก ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว ประกอบกับ โจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือขัดขวางการพิจารณาของศาล ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ให้ตีราคาหลักประกัน 500,000 บาท กับให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทางและหลักประกัน ทำสัญญา ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
เนื้อข่าวศาลอาญา ระบุว่า วันนี้ เวลา 9.00 นาฬิกา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ ได้นำตัว พันตำรวจโท หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาศาลเพื่อยื่นฟ้องในความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 255- มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8
ศาลอาญามีคำสั่งประทับฟ้อง โดยได้อ่านและ อธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ และได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา
โดยการประชุมร่วมกันของผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์การณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด อายุมากได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือขัดขวางการพิจารณาของศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยให้ตีราคาหลักประกัน 500,000 บาท กับให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทางและหลักประกัน ทำสัญญา ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ ตรวจคืนหลักประกันเมื่อสัญญาประกันสิ้นผลผูกพัน"
ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ส.ค.2567 เวลา 09.00 นาฬิกา.
อ่านประกอบ :