สถาบันพระปกเกล้าเผยผลสำรวจ 87% เห็นด้วยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ 'ก้าวไกล'จ่อยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ด้าน 'นิกร' คาดรัฐบาลเพื่อไทยไม่ทันใช้ พ.ร.บ.ประชามติ-'พงศ์เทพ'เผยอยากเห็น สสร.มาจาก ปชช.โดยตรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สถาบันศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย (Institute of Democratization Studies: IDS) โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย (Konrad-Adenauer-Stiftung: KAS) จัดเวทีเสวนา ทางออกประชามติ ปูทางสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ต้องทำประชามติ ตามหลักเกณฑ์ของการทำประชามติ โดยตนมองว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต้องแก้ไข ให้เป็นตามหลักการเดียวกันกับการออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ ใช้เสียงข้างมาก
เพราะการกำหนดหลักเกณฑ์ที่รวมเสียงไม่เห็นด้วยจะทำให้เกิดข้อสรุปว่าประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข จะทำให้การร่างรัฐธรมนูญทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ ดังนั้นควรแก้ไขรายละเอียด รวมถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรณรงค์ได้อย่างเสรี และควรมีประเด็นที่ถกเถียงกันคือ คำถามประชามติควรเป็นอย่างไร
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับพรรคก้าวไกล ได้มีเสนอว่าควรมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดย 2 ครั้ง หลังเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนครั้งแรก พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการจัดทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากเหตุผล 3 ข้อ ดังนี้ 1) เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางการเมือง 2) เพื่อแก้ปัญหาการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ยังคงแตกต่างกัน ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะถามประชาชนตั้งแต่แรกหรือไม่ และ 3) เพื่อใช้ประชามติครั้งแรกเป็นกลไกสำคัญในการหาข้อยุติระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น ประสบความสำเร็จ
นายพริษฐ์ กล่าวถึงกรณีที่คาดการณ์ว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่อาจใช้เวลานานและไม่ทันว่า พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอการแก้ไขเป็นรายมาตรา เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข เพื่อให้ดีกว่าฉบับเดิม ทั้งนี้ยอมรับในข้อกังวลจากหลายฝ่ายต่อกระบวนการจ้องตีความกฎหมาย แต่ตนมองว่ามีวิธีที่อาจผ่านไปได้ เช่น ข้อถกเถียงของที่มาของ สสร. ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือ รูปแบบอื่น การออกแบบคำถามประชามติสามารถออกแบบได้ว่ามีรูปแบบอื่นที่มากกว่าหนึ่งวิธีให้ประชาชนตัดสินใจ เป็นต้น
ด้าน นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ในสภาฯ วันที่ 18 มิถุนายนนี้ เชื่อว่าจะเสร็จได้ภายในวันเดียว เนื่องจากเป็นการรวมเนื้อหาฉบับของพรรคก้าวไกล ฉบับของรัฐบาลเข้าด้วยกัน ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งทำ เพราะล่าช้ามา 4 เดือนแล้ว และเมื่อ พ.ร.บ.ประชามติผ่านแล้ว กระบวนการต่อไป คือให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) ประชุมสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาถึงงบประมาณ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดวันออกเสียงประชามติ
“ผมมองว่าขณะนี้มีหลายประเด็นที่ต้องระวัง เพราะมีคนจ้องล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องอย่าทำให้มีเป้าได้ เช่น การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามตินั้นต้องใช้กระบวนการรัฐสภาหรือไม่ เพราะเดิมใช้การประชุมร่วม ทั้งนี้ได้สอบถามกฤษฎีกาแล้ว ตีความร่างกฎหมายฉบับใดเป็นปฏิรูปหรือไม่ ให้ครม. ตัดสิน ซึ่ง ครม.เห็นว่าควรใช้ระบบการพิจารณากฎหมายตามปกติ นอกจากนั้นในการกำหนดให้มี สสร. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 หรือไม่ ดังนั้นต้องระวังให้ดี” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ไม่กล้าพูดว่าจะเสร็จแน่นอน เพราะเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลปัจจุบัน หรือ คนที่ทำอาจไม่ได้ใช้ เนื่องจากต้องมีกระบวนการทำกฎหมายลูกที่ต้องใช้เวลา 6 เดือน อย่างไรก็ดีไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีรัฐสภาทำกฎหมาย เพราะสิ่งที่เตรียมจะเขียนคือ ต่อให้สภาฯยุบ หรือไม่มีรัฐบาล สสร. จะยังอยู่ต่อไป แต่หากเกิดกรณีที่รัฐบาลปัจจุบันทำเบ็ดเสร็จ จะเป็นเรื่องดี และฝ่ายค้านจะไม่เหลือเลย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติของสภาฯ ในวันที่ 18 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เชื่อว่าจะเสร็จได้ไม่เร็ว เนื่องจากว่ามีประเด็นที่ต้องแก้ไขหลายประเด็น และเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาการเปิดสมัยประชุมสามัญ ช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคมนั้น ตนเชื่อว่าจะไม่เสร็จ และเมื่อต้องนำเข้าให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็น สว.เก่า หรือ สว.ใหม่ เพราะการเลือกตั้ง สว.ยังไม่แล้วเสร็จ
"เชื่อว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติต้องใช้เวลาและกว่าจะประกาศใช้ได้ จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2567 ส่วนการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 3-4เดือนหลังจากนั้น และเมื่อทำแล้วนำไปสู่การกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อาจถูกโต้แย้งว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 หรือไม่อีก ทั้งนี้ผมสนับสนุนให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูนั้นยึดโยงกับประชาชนให้มาก และอยากเห็นให้ สสร. มาจากการเลือกโดยตรงของประชาชน" นายพงศ์เทพ ระบุ
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,620 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7 - 18 พฤษภาคม 2567 ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้ารัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชนชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยภาพรวม ส่วนใหญ่ 87% เห็นด้วย แบ่งเป็น เห็นด้วยอย่างยิ่ง 65.4% และค่อนข้างเห็นด้วย 21.6%