เผยมติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ ตีตกคดี 'พงศ์พันธ์ วงมณี' อดีตรองเลขาฯ อย.เรียกให้บริษัทยาช่วยบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯโดยมิชอบ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายพงศ์พันธ์ วงมณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียกให้บริษัทยาช่วยบริจาคเงินขั้นต่ำร้อยละ 2 - 5 ของยอดสั่งซื้อเพื่อสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมิชอบ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายงพงศ์พันธ์ วงมณี ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 บริษัทยาหลายแห่งที่เคยขายผลิตภัณฑ์ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 ให้กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เข้าพบผู้ถูกกล่าวหาที่ห้องทำงานเป็นรายบุคคล ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบว่าเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มีดำริขอให้บริษัทยาที่ขายผลิตภัณฑ์ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 2 ให้กองควบคุมวัตถุเสพติด ช่วยบริจาคเงินขั้นต่ำร้อยละ 3-5 ของยอดที่สั่งซื้อทุกครั้ง สมทบเข้ากองทุนสวัสดิการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยอ้างว่าเป็นกองทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถกระทำได้
แต่บริษัทยาหลายแห่งทักท้วงว่าการบริจาคเงินเป็นร้อยละของยอดสั่งซื้อนั้นจะผิดกฎหมายการให้สินบนของสหรัฐอเมริกา FCPA (Foreign Corruption Pratice Act) และตอบปฏิเสธคำขอดังกล่าว ทำให้กองควบคุมวัตถุเสพติดระงับการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 2 ที่ควรดำเนินการในเดือนธันวาคม 2551 มีผลทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งที่ต้องการใช้ยาได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนยาดังกล่าว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับมอบหมายตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ 502/2551 ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในราชการของกองควบคุมวัตถุเสพติด มีอำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างตามระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 รายละเอียดคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดซื้อวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ในปีงบประมาณ 2551 ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2550 - 30 กันยายน 2551 จำนวน 53 ครั้ง รวมเป็นเงิน 304,391,437.70 บาท สำเนาสรุปรายงานการจัดซื้อวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ รายละเอียดในการจัดซื้อมีบริษัทที่ขายวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในปีงบประมาณดังกล่าวจำนวน 21 บริษัท สำหรับปีงบประมาณ 2552 ได้มีการยกเลิกการประกวดราคา รายละเอียด สำเนารายงานจัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปีงบประมาณ 2552 โดยไม่พบว่ามีการกระทำความผิดตามที่กล่าาวหา
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายงพงศ์พันธ์ วงมณี ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป