‘รมช.มหาดไทย-เกรียง’ ชี้ปัญหาประมูลอุปกรณ์กีฬาแพงเกินจริง มาจากสำนักงบฯไม่ตั้งราคามาตรฐาน ทำให้เอกชนไปฮั้วในขั้นตอนสอบราคากลาง ด้าน ‘ชัชชาติ’ ล้อมคอกจั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีปลัดกทม.นั่งหัวโต๊ะ ก่อนเสริมมีช่องโหว่ในพ.ร.บ.จัดซื้อฯปี 60 ทำเกิดปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2567 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการสำคัญของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ บริเวณถนนราชดำเนิน เขตพระนคร
@ซัดสำนักงบฯ ไม่กำหนดราคากลางมาตรฐานอุปกรณ์กีฬา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา ว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งคือสำนักงบประมาณไม่เคยตั้งราคากลางมาตรฐานการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาไว้ ทำให้เกิดขั้นตอนของการสอบราคา จึงนำมาซึ่งการฮั้วของผู้ประกอบการ ทำให้ราคากลางสูง เมื่อจัดซื้อจัดจ้างก็เกิดปัญหา ที่ผ่านมาได้เชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำหนดราคากลางของอุปกรณ์กีฬาแต่ก็ไม่สำเร็จ ในอนาคตจึงขอให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและกำหนดมาตรฐานราคากลางของอุปกรณ์กีฬาแต่ละประเภทให้ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาทั่วประเทศและนั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ
ในขณะเดียวกันทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังแก้ไขปัญหาอยู่ในทุกๆด้าน ซึ่งมหาดไทยอาจนำเป็นต้นแบบและโครงการนำร่อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป
@ตั้งปลัดกทม.ปธ.สอบข้อเท็จจริง จัดซื้อ
ด้านนายชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กทม.ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยมีพญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกทม.พร้อมรับการตรวจสอบ และพยายามแก้ไขในเรื่องของระบบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีเครื่องออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งเมื่อพบผู้กระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดและรวดเร็ว โดยมีคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน และขอให้มั่นใจว่ากทม. ไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องทุจริต โดยขณะนี้ได้มีคำสั่งชะลอทุกโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายในโครงการที่สุ่มเสี่ยงและไม่โปร่งใส 17 โครงการ โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับราชการแล้ว
“อุปกรณ์กีฬาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน กทม. ต้องการสร้างศูนย์กีฬาที่มีคุณภาพ แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ไม่มีราคากลางที่เป็นมาตรฐานชัดเจน สำหรับอุปกรณ์กีฬาแต่ละประเภท จึงทำให้เกิดช่องโหว่ดังกล่าว หากอุดช่องโหว่นี้ได้จะนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ด้านอื่น ๆ เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย อุปกรณ์ก่อสร้าง ก็จะทำให้ทุกคนสบายใจขึ้น เพราะทุกคนได้แข่งขันกันในราคากลางมาตรฐานชัดเจนที่กำหนดไว้ วันนี้กทม. เจ็บปวดในเรื่องทุจริต แต่ขอให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว
@ชี้ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ มีช่องโหว่
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างนั้นต้องตรวจสอบดูถึงช่องโหว่ของระเบียบกฎหมายพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 โดยนำมาวิเคราะห์ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร อาทิ การเสนอราคา การเข้าประกวดราคา เนื่องจากผู้บริหารไม่สามารถเข้าไปดูทุกขั้นตอนได้ เพราะรูปแบบของพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างคือการกระจายอำนาจ เช่น หากงบประมาณเกิน 200 ล้าน จะมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้พิจารณาอย่างละเอียด แต่หากงบประมาณน้อยก็จะกระจายให้หน่วยงานและพื้นที่พิจารณาเพื่อให้มีประสิทธิภาพและสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งรูปแบบพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นี้ ใช้งานทั่วประเทศ ดังนั้นคิดว่าปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากระบบที่วางไว้ แต่เกิดจากคนที่คิดจะทุจริตจึงหาโอกาสจากช่องว่างของกฎหมาย จึงต้องนำปัญหามาวิเคราะห์ในภาพรวมเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องคนก็ต้องแต่งตั้งคนที่ดีขึ้นมาบริหารงาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระบบกับปัญหาเรื่องคนจึงต้องเดินไปด้วยกันในทิศทางเดียวกัน
ส่วนเรื่องของการมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหน่วยงานราชการในการควบคุมดูแลของรองปลัดกรุงเทพมหานครเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.67) นั้น เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีความโปร่งใส ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับพยานบุคคลและผู้ให้ข้อมูล โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนคำสั่งฯ อื่นอีกในอนาคต ซึ่งกทม.ต้องเร่งสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และกทม.มีความกังวลใจเพราะหากประชาชนไม่ให้ความไว้วางใจ กทม.ก็ไม่สามารถทำงานได้ จริงๆต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ และต้องไม่ปล่อยปละละเลยเมื่อมีคนแจ้งเหตุเข้ามา ต้องรีบดำเนินการทันที
ส่วนปัญหาเรื่องของรถขนส่งนักกีฬาของกองการกีฬาที่เป็นประเด็นนั้น เป็นรถที่ใช้งานแต่ใช้งานไม่บ่อย จึงต้องไปดูในส่วนของรายละเอียดการใช้งานต่อไป เบื้องต้นทราบข้อมูลว่าใช้งานมาตั้งแต่ปี 2561 โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องการตรวจสอบทุจริตเป็นเรื่องที่ดี โดยให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการทำงานของกทม.
เรื่องรถขนส่งนักกีฬาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2561 นั้น เป็นรถที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดความคุ้มค่าและความเหมาะสมต่อไป ซึ่งกทม. มีรถราชการที่ใช้งานกว่า 10,000 คัน ต่อไปนี้คงต้องใช้งานให้มีประสิทธิภาพ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสม โดยไม่ต้องจัดซื้อรถเพิ่มเติม
อ่านประกอบ