เม็กซิโกพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N2 เสียชีวิต 1 ราย เป็นรายแรกของโลก WHO เผยความเสี่ยงต่อสังคมยังอยู่ในระดับต่ำ ด้าน สธ.เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 2/2567 ว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงประกาศกรมควบคุมโรคที่เกี่ยวกับการประกาศเขตโรคระบาดในต่างประเทศ 3 ฉบับ หากผู้คนออกจากเขตควบคุมโรคในต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเราต้องดูแลอยู่แล้ว แต่ในส่วนของค่าใช้จ่าย ต้องเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของพาหนะที่นำคนเหล่านั้นเข้ามา หากไม่มีพาหนะเข้ามา คนๆ นั้นก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ส่วนเรื่องไข้หวัดนกนั้นที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ พบผู้ติดเชื้อประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโกที่เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้มีการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่งมาเมื่อเช้า ที่ประชุมมีการพูดคุย และเตรียมความพร้อมระวังเหตุ แม้ว่าวันนี้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ตาม โดยในต่างประเทศก็ต้องติดตามสถานการณ์ผ่านองค์การโรคระบาดสัตว์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นยังมีคนเสียชีวิตเพียง 1 คน เราก็ต้องระวัง และมีการพูดคุยกันเลย ถือว่าเร็วมาก
นายสมศักดิ์ กล่าวแผนเฝ้าระวังโรคเพิ่มเติมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ว่า มีทีมวิชาการคอยติดตามอยู่แล้ว ต้องเปิดตำรามาดู และเก็บข้อมูล รวมถึงนำข้อมูลต่างประเทศมาใช้ ตลอดจนการมองหายารักษาโรค
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยง ส่วนสถานการณ์เพื่อนบ้านของไทยก็มีมาตรการดูแลเฝ้าระวังให้ดี อย่างเมื่อก่อนจำได้ว่า ตอนนั้นตนเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีการทำลายสัตว์ปีกจำนวนมหาศาลโดยใช้ระเบียบกำกับด้วย วันนี้ก็มีการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัยมากขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องไปทำลายสัตว์เป็นจังหวัดๆ แต่ให้ดำเนินการในกลุ่มหมู่บ้านเล็กๆ
“ในต่างประเทศก็ต้องติดตามสถานการณ์ผ่านองค์การโรคระบาดสัตว์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นยังมีคนเสียชีวิตเพียง 1 คน เราก็ต้องระวัง และมีการพูดคุยกันเลย ถือว่าเร็วมาก เราทราบข้อมูลก็ประชุมติดตามทันที” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการสุ่มตรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ นอกจากสัตว์ปีกว่า ตอนนี้ นสพ.สรวิศ ธานีโต อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข แนะนำว่า ไม่ควรดื่มนมสด ถ้าไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ หรือทำให้เป็นอาหารปลอดภัยก่อน เพราะอาจจะเสี่ยงได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท ย้ำว่า ในอดีตการเลี้ยงหมูอาจจะยังไม่สะอาดมากนัก แต่ปัจจุบันการเลี้ยงมีความสะอาด โรคหมูเข้าไปไม่ง่าย
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีระบบในการติดตามเฝ้าระวังตลอด ผ่านศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) โดยกรมปศุสัตว์ ดูแลสัตว์ กรมควบคุมโรคเราดูเรื่องคน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยสอดส่องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันในระดับจังหวัดและติดตามประสานงานกับต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องการตรวจสุ่มตรวจไข้หวัดนกในคนป่วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่ ซึ่งย้ำว่าเราสามารถตรวจได้ทุกสายพันธุ์
“ในเรื่องการตรวจสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ที่มีคนกังวลว่า อาจมีไข้หวัดนกด้วยหรือไม่นั้น ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีการตรวจสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ ว่า เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ชนิดไหน อย่างไร ขอยืนยัน 100% และล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ไม่มีไข้หวัดนกในขณะนี้ ที่สำคัญยังไม่ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า มีสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ ตายโดยผิดปกติ” นพ.ธงชัย กล่าว
ด้านนพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อในฟาร์มวัว 2 รายที่อเมริกา ทางกองโรคติดต่อ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นัดหารือกันมาแล้วเพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งในส่วนของไทยไม่มีความเสี่ยง ส่วนการเฝ้าระวังตามด่านป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งมีการประชุมกันทุกเช้า ก็ยังไม่พบรายงานความเสี่ยงที่จะเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ได้ส่งข้อมูลข่าวให้กับพื้นที่ต่างๆ ได้เฝ้าระวังด้วย อย่างตอนที่มีรายงานเชื้อแอนแทรกซ์ในต่างประเทศ ตนก็ได้ลงพื้นที่ไปตามด่านควบคุมโรคต่างๆ พบว่า มีความแอคทีปด้วยตัวเองค่อนข้างดี ดังนั้น ทั้งด้านการข่าว การทำงานของด้าน และการสอบสวนส่วนกลางค่อนข้างดี ความเสี่ยงยังไม่มี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์รายงานว่า พบชายในเม็กซิโกเสียชีวิตหลังติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 เป็นรายแรกของโรค เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา จากอาการไข้ หายใจติดขัด ท้องเสียและคลื่นไส้
สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิต เป็นชายวัย 59 ปี ไม่มีประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีก และสัตว์ชนิดอื่น แต่มีโรคประจำตัวหลายโรค รวมถึงโรคไต และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ WHO ได้ประเมินความเสี่ยงต่อสังคมในวงกว้างจากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ยังอยู่ในระดับต่ำ