เผยมติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี 'สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์' อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่ำรวยผิดปกติ ชี้เงินฝาก 97 ล้าน ซื้อที่ดิน-รถยนต์ เพียบ มาจากการประกอบธุรกิจให้เช่าพระเครื่องจริง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 มีมติเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่ำรวยผิดปกติ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เงินฝาก 97,207,362.05 บาท มีที่มาจากการประกอบธุรกิจให้เช่าพระเครื่องจริง
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า จากการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีกล่าวหานายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีเหตุอันสงสัยว่านายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการตรวจสอบ ในช่วงที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีจนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม2541 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 มีเงินฝากเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหาและบัญชีของนาง ก. คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา นอกเหนือจากเงินที่ได้รับจากทางราชการ เป็นจำนวนรวม 97,207,362.05 บาท ซื้อที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 7 รายการ มูลค่ารวม 15,014,200 บาท และซื้อรถยนต์ จำนวน 3 คัน มูลค่ารวม 3,500,000 บาท
ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่า เงินฝากและทรัพย์สินดังกล่าวมีที่มาจากรายได้ในการประกอบธุรกิจ ให้เช่าพระเครื่อง ซึ่งจากการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากรายได้จากการรับราชการแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายังร่วมกับจ่าสิบเอก ส ทำธุรกิจซื้อขายพระเครื่องมาตั้งแต่ประมาณปี 2535 และร่วมกับนาย ธ หรือที่รู้จักกันในวงการพระเครื่องว่า ต ซื้อขายพระเครื่องตั้งแต่ประมาณปี 2539 โดยในการร่วมกับนาย ธ นั้น นาง ก คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในช่วงต้นได้เช่าสถานที่ที่อาคารมณเฑียร ถนนสุรวงศ์ เปิดเป็นร้านขายพระเครื่อง
ต่อมาย้ายมาเช่าสถานที่ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน และจดทะเบียนพาณิชย์ โดยใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ร้านคุณพระ และยังดำเนินธุรกิจมาถึงปัจจุบัน
สำหรับพระเครื่องที่นำมาขายหรือให้เช่าส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมาจากบิดาที่เก็บสะสมไว้ ซึ่งปรากฏพยานหลักฐานจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ 8 ว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการทรัพย์สินเป็นพระเครื่องและพระบูชาไม่น้อยกว่า 1,000 องค์ มูลค่าประเมิน (ปี 2538) 9,000,000 บาท
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ระหว่างปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นการสัมภาษณ์ผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการถือครองพระเครื่องชื่อดัง เช่น พระรอด พิมพ์ใหญ่ (เนื้อเขียว) กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ซึ่งสถาบันศึกษาวิจัยพระเครื่องแห่งประเทศไทย ได้ทำการประเมินราคากลางของการซื้อขายหรือเช่าบูชาอยู่ที่องค์ละ 3 - 6 ล้านบาท พระปิดตา ท้ายย่าน พิมพ์ชีโบ กรุวัดท้ายย่าน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และพระขุนแผน บ้านกร่าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบสำเนาเช็คเงินสดที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นประกอบคำชี้แจง ซึ่งจากการสอบปากคำพยานบุคคลที่มีชื่อปรากฏบนเช็คดังกล่าว ต่างให้การสอดคล้องต้องกันว่า เช็คดังกล่าวเป็นการสั่งจ่ายเพื่อชำระค่าพระเครื่อง จึงเชื่อว่าเงินฝากเข้าบัญชีจำนวน 97,207,362.05 บาท ซื้อที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 7 รายการ มูลค่ารวม 15,014,200 บาท และซื้อรถยนต์ จำนวน 3 คัน มูลค่ารวม 3,500,000 บาท
มีที่มาจากการให้เช่าพระเครื่องจริง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด
การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 36/2567 วันที่ 1 เมษายน 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป