ครม.เคาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ‘เมืองรอง’ ช่วงโลว์ซีซั่น เปิดทาง ‘นิติบุคคล’ นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีฯ ได้ 1.5-2 เท่า ส่วน ‘บุคคลธรรมดา’ หักลดหย่อนฯตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท
.................................
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการแรก มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าขนส่งจะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
1.สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2.สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1
3.ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่งๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรการที่ 2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)
ทั้งนี้ จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรด้วย
“มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season มากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย” นายพรชัย กล่าว
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีและอนุมัติในหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในประเทศในช่วง low season ตั้งแต่เดือน พ.ค.-พ.ย.2567 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และขอส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อเป็นเรื่องเร่งด่วน
“เป็นที่ทราบว่าก่อนที่งบประมาณจะถูกประกาศออกไปเมื่อตอนต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการที่ผลักดันเศรฐกิจ ซึ่งเมื่อวันก่อนได้มีการประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสนับสนุนเมืองรองและได้มีการประสานงานเพื่อให้จัดเทศกาลต่างๆ ในเมืองรองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเดือนที่เป็นเดือน low season
ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็น สส. ในพื้นที่ให้รับทราบในพื้นที่จังหวัดตนเองมีเรื่องเทศกาลไหนที่ดี ประสานไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อช่วยในการสนับสนุนและโปรโมท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นเมืองได้ ซึ่งในส่วนนี้ที่ได้มีมาตรการด้านภาษีออกไปทางกระทรวงการคลังได้มีการประเมินการเสียภาษีประมาณ 1,500 ล้าน มั่นใจว่าถ้าเราช่วยอย่างเต็มที่ เรื่องการสนับสนุนเมืองรองตรงส่วนนี้จะสามารถเกณฑ์กลับมาได้ 1,500 ล้าน” นายเศรษฐา กล่าว
ขณะที่ นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะมีส่วนในการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งคือระหว่างเดือน พ.ค.2567-พ.ย.2567
“ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยทั้ง 2 มาตรการนี้ จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย” นางรัดเกล้า กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท ขณะที่มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯเน้นย้ำว่า ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ดูแลพื้นที่ตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประสานงานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ