‘เศรษฐา’ เปิดวิสัยทัศน์ด้านการเกษตร มองต้องจัดการน้ำไม่ให้ท่วม ไม่ให้แล้ง ก่อนอวยผลงานยางพาราทะลุ 100 บาท/กก. ระบุต้องผลักดันเกษตรแม่ยำ ด้าน ‘ธรรมนัส’ ประกาศใน 3 ปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่ม 3 เท่า ภายใน 4 ปี ด้วยมาตรการยกระดับสินค้าเกษตร 4 กลุ่ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND จุดพลังรวมใจไทยต้องเป็นหนึ่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลกโดยมีคณะรัฐมนตรีหัวหน้าหัวหน้าส่วนราชการภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม
นายเศรษฐา แถลงวิสัยทัศน์ว่า นโยบายเรื่องการเกษตร เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะภาคเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยประชากรไทยกว่าร้อยละ 40 ล้วนเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลมีความพร้อม มุ่งมั่นยกระดับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทย ให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกตลอดห่วงโซ่ ด้วยนโยบายและมาตรการสำคัญ
ทั้งมาตรการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร เริ่มตั้งแต่ปัจจัยการผลิตทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย และพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ผลิตสินค้าที่ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าว มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ มุ่งสู่ผลสำเร็จที่ตามมาก็คือภาคเกษตรเติบโต นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล
@โฟกัสบริหารน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สรุปนโยบายการดำเนินงานมา ประชาชนคนไทยที่รับฟังมากกว่า 40% ของประเทศ ก็น่าจะมีความสบายใจ ว่ารัฐบาลนี้มีนโยบาย ที่ชัดเจน ซึ่ง 40% ของประชากรในประเทศไทยเกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาลนี้พูดมาหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่โก้เก๋ วันนี้เรากลับมายืนจุดพื้นฐาน ของประชาชนคนไทย
“เราเป็นประเทศที่ต้องพึ่งเกษตรกรรมอย่างมาก ไม่อยาก พูดซ้ำกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวไว้ดีแล้วประเด็นสำคัญ 3 ด้านเรื่องความเข้มแข็งด้านการเกษตร เทคโนโลยี ความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้มีหลายมิติ โดยเรื่องแรกความเป็นทางการเกษตร ดิน น้ำ ปุ๋ย พันธุ์พืชเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสำรวจดิน ไม่ใช่มาใส่ปุ๋ยมั่วๆไป ทั้งนี้ น้ำเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ท่วมไม่แล้ง เชื่อว่ารายได้ของประเทศนี้จะพุ่งขึ้นมหาศาล เราต้องดูแลบริหารจัดการน้ำให้ดี ทำให้เขาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อราคาข้าวดี การลงทุนรัฐบาล ที่ทำให้ น้ำไม่ท่วมไม่แล้ง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปผลตอบแทนจะตกอยู่ที่ประเทศและคนไทย จึงต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดีจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
@อวดผลงาน ยางโลละ 100 บ.
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลใส่ใจและให้ความสำคัญเกษตรกรสูงสุด ไม่ใช่เชิญนักธุรกิจมาลงทุนอย่างเดียว รัฐบาลให้ความสำคัญเกษตรกรเยอะมาก รวมไปถึงการห้ามสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะยางเถื่อนเข้ามา วันนี้ราคายางไม่ใช่ 3 กิโลกรัม 100 บาท แต่กิโลกรัมละ 100 บาท เกิดจากการที่รัฐบาลนี้ทุกภาคส่วนให้ความใส่ใจไม่ใช่แค่ใส่เงิน เราดูแลทุกคน ไม่ให้มีสินค้าเถื่อนเข้ามา และอีกหลายๆเรื่องที่เราใส่ใจดูแล
“ซึ่งการใส่ใจมีค่ามากกว่าการใส่เงิน ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้มั่นใจ และสบายใจได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่แค่ใส่เงินอย่างเดียว เราทุกคนในที่นี้จะใส่ใจดูแลพี่น้องเกษตรกรที่เป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
@ผลักดัน เกษตรแม่นยำ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลักดันการทำเกษตรแม่นยำ ซึ่งไม่ได้แต่มุ่งเฉพาะเรื่องการใช้เครื่องจักรกล หรือ โดรนทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องรู้แนวโน้มตลาด และผลิตพืชสินค้าที่แนวโน้มดี เช่น ทิศทางพืชอาหารสัตว์ พืชที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น โกโก้ กาแฟ การบริหารจัดการสภาพดิน บริหารจัดการน้ำ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม รู้สภาพอากาศ รวมไปถึงเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน จัดการกับปัญหา Climate Change อย่างประกันภัยให้แก่เกษตรกร รวมถึงเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป ทั้งนี้ การทำเกษตรแม่นยำ จะทำให้เราสามารถยกระดับสินค้าเกษตรและศักยภาพเกษตรกรไทยได้ และถัดมาที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดการปฏิบัติจริง นั่นคือ มาตรการความยั่งยืน ไม่เผา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนัก และช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำได้จริง การรณรงค์ลดเผาที่ก่อให้เกิดทั้ง PM2.5 ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเราสามารถดำเนินการได้จริง แต่ยังไม่เพียงพอ เราต้องมีมาตรการเพิ่มเติมด้วย อีกทั้งยังช่วยภาคการเกษตรไทยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่จะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้ในเรื่องของ Carbon Emission
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังมีมาตรการต่างๆ อีกมากมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกฝ่าย ที่ร่วมบูรณาการจนเกิดเป็นผลสำเร็จ เพื่อนำพาภาคการเกษตรไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จจากการพัฒนาภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ดี ปลดหนี้ มีภูมิคุ้มกันและสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน
@ธรรมนัส ลั่น 2 มาตรการเกษตร
ด้าน ร.อ. ธรรมนัส แถลงแนวทางยุทธศาสตร์ “IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับ และภาคเกษตรยังสามารถเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรต้องเผชิญกับปัญหานานับประการที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรยังคงมีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับภาคการผลิตอื่นๆ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี ผ่านการขับเคลื่อนด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน และ 2. มาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน มุ่งเน้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร โดยจะมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1.ด้านปัจจัยการผลิต พันธุ์ ดิน ปุ๋ย น้ำพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการนำเทคนิคการปรับแต่งหรือแก้ไขยีน (Gene editing: GEd) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Agri-Map) ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยแม่นยำ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี เพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็น 40 ล้านไร่ ภายในปี 2570 และการเพิ่มแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2. ด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานสูงวัย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการทำเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ 3.สร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน อาทิ การลดการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งเสริมมาตรการจูงใจลดการเผาแบบมีเงื่อนไข และ การพักหนี้เกษตรกร และมาตรการประกันภัยการเกษตรโดยจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในระบบประกันภัยเพื่อช่วยประเมินความเสียหาย เช่น การใช้ดาวเทียม เครื่องวัดความเร็วลม และเครื่องวัดความชื้นของอากาศ เป็นต้น
@ยกระดับสินค้าเกษตร 3 กลุ่ม ประกาศเกษตรกรมีเงินเพิ่ม 3 เท่า ใน 4 ปี
ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า มาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 สินค้าที่มีการผลิตมากกว่าความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบด้วย ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ไก่ กุ้ง มุ่งเน้นนโยบายสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตกับความต้องการใช้ การควบคุมปริมาณการผลิตพร้อมสินค้าทางเลือก การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตลาดใหม่ และการส่งเสริมการตลาด
กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และทุเรียน มุ่งเน้นนโยบายการเพิ่มผลผลิตในประเทศ ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการขยายพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ตลอดจนการผลิตด้วยพันธุ์ดีคุณภาพสูง การเพิ่มช่องทาง และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ
และ กลุ่มที่ 3 สินค้าศักยภาพ ได้แก่ ถั่วเหลือง กาแฟ ชา โคเนื้อ และโคนม มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต ทดแทนการนำเข้า จะสนับสนุนทั้งพันธุ์ดี เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม และการเข้าถึงตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้ง 2 มาตรการ เพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย คนในภาคการเกษตรจะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปีนี้
ซึ่งในระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนภาคเกษตร ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 2.การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยรัฐสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยร้อยละ 60 และ ธ.ก.ส. สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ลูกค้าร้อยละ 40 เกษตรกรจะได้รับการชดเชยเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 3. การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินมาตรการลดเผา 4ป 3R เป็นการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง 4) การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ และเร่งศึกษาการใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) 5) การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชชนิดอื่นที่ตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ 6) ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GAP มาตรฐาน EUDR มาตรฐาน RSPO