ศาลปกครองกลาง มีมติเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัว สว. ชี้ระเบียบดังกล่าวจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครสว.เกินกว่าเหตุ ไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เมื่อเวลา 13.30น. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ
ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม6 ราย ยื่นฟ้อง กกต. และ ประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบกกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
@สว.เป็นผู้แทนปวงชน ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจ
โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของสว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. 2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ
การที่ระเบียบกกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัครสว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัครสว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครสว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด
จึงพิพากษาให้ เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ
@ลุ้นเลิกแนะนำตัว 2 หน้า A4 - เปิดทางหาเสียงโซเชียลได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระเบียบ กกต.ข้อ 7 กำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยใช้เอกสารมีข้อมูลยาวไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ โดยสิ่งที่ผู้สมัครจะสามารถระบุในเอกสารแนะนำตัวได้ คือข้อมูลส่วนตัว,รูปถ่าย,กลุ่มที่ลงสมัคร,หมายเลขของผู้สมัคร,ประวัติการศึกษา,ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน ส่วนข้อ7 ของระเบียบฉบับที่ 2ยังให้เเนะนำตัวเเค่2หน้า
ข้อ 8 กำหนดว่า การแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถทำได้ “ด้วยตนเอง” ซึ่งหมายความว่า หากจะแนะนำตัวผ่านโซเขียลมีเดียต่างๆ การส่ง การเผยแพร่ข้อความ จะต้องทำผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้สมัครรายนั้น โดยการแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิสก์ ผู้สมัครต้องใช้ข้อความเหมือนในเอกสารแนะนำตัวที่เป็นกระดาษตามกรณีแรก และเผยแพร่แก่ “ผู้สมัครอื่น” ในการเลือกเท่านั้น หากผู้สมัครจะแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งข้อความทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ต้องจำกัดส่งให้เฉพาะ “ผู้สมัครอื่น” หรือตั้งค่าให้เฉพาะผู้ที่สมัคร สว. เท่านั้นที่จะเห็นข้อความการแนะนำตัว ขณะที่สาธารณชน จะไม่สามารถเห็นได้เลยว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคน แนะนำตัวกันอย่างไร หรือพูดอีกอย่างคือ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ เดิมถูกออกแบบมาให้เฉพาะ “ผู้สมัคร สว.” พูดคุยกันเอง แนะนำตัวเองเท่านั้น
ข้อ8 ฉบับที่สอง กำหนดว่าผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 (เอกสารแนะนำตัวแบบกระดาษ) ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นด้วยก็ได้
ข้อ 11 ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (2) ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อ-สายบันเทิง ห้ามใช้ความสามารถหรืออาชีพตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
(3)ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ
@เลขากกต.รับฟังคำพิพากษา
ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ให้สัมภาษณ์กรณี ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัครสว. บางข้อ ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษา คงพูดแทนกกต.ไม่ได้ แต่ในชั้นสำนักงาน อะไรที่ศาลตัดสิน แล้วเป็นประโยชน์กับประชาชน เราก็จะดำเนินไปตามนั้น ถ้าเป็นเรื่องการให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น สำนักงานก็จะคำนึงถึงตรงนี้เป็นหลัก ก็จะเสนอให้กับกกต.
ส่วนจะมีโอกาสยื่นอุทธรณ์หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เป็นเรื่องของกกต.แต่โดยหลักการถ้าเป็นประโยชน์กับส่วนรวม และประเทศชาติสามารถเดินต่อไปได้ ก็ถือว่าเป็นไปตามโรดแมป
เมื่อถามว่า หากเพิกถอนไปแล้ว ใบประวัติแนะนำตัวสามารถเขียนเกิน 2 หน้ากระดาษ A4 ได้ จะกระทบต่อกระบวนการทำงานของกกต.หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่กระทบ
เมื่อถามว่า จากคำพิพากษากกต.ทำเกินกว่าหน้าที่ เป็นการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนใช่หรือไม่ นายแสวง ระบุว่า ตนพูดไปหลายครั้งแล้ว ระเบียบแบบนี้ใช้ลักษณะนี้มาโดยตลอด เมื่อศาลพิพากษาว่าเราควรให้สิทธิ์ประชาชนมากกว่านี้ เราก็ต้องรับฟัง
ส่วนกังวลว่าจะมีคนไปร้องเรียนเพิ่มหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของประชาชน