ป.ป.ช.-หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย จัดเสวนาแก้ปัญหา-ป้องกันทุจริตในเอกชน ชี้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน-ประชาชนมีส่วนร่วม-ใช้กฎหมายเข้มงวด เป็นส่วนสำคัญในการลดการทุจริตในการทำธุรกิจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ในหัวข้อการดำเนินการและความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนไทยในการป้องกันการทุจริต
ทั้งนี้งานอภิปรายครั้งนี้อภิปรายเป็นภาษาอังกฤษตลอดการสนทนา โดยมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานว่า งานวันนี้จะพูดถึงบทบาทของป.ป.ช ในการดำเนินงานป้องกันการทุจริต พูดถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ หวังว่างานครั้งนี้จะกระชับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
Mrs. Vibeke Lyssand Leirvag ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า JFCCT มีหอการค้า 36 แห่ง เน้นในการทำเรื่องการทำธุรกิจในประเทศที่มีความสำคัญ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย มีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคือหัวใจของความสำเร็จ
นายนิติพันธุ์ กล่าวว่า การติดสินบนเป็นสิ่งเลวร้ายในการทำธุรกิจ world bank ระบุว่า มีการจ่ายเงิน มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในการทำการทุจริตระหว่างการทำธุรกิจ ทางป.ป.ช. มีกรรมการ 9 คน มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 คน มีหน้าที่หลัก 3 ประการ ได้แก่ การสอบสวนการทุจริต การป้องกันการทุจริต และการสืบความร่ำรวยผิดปกติ ขอยกตัวอย่างมาตรา 138 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ โดยป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานต่างชาติเมื่อเจอปัญหาการติดสินบนหรือทุจริตในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ
นอกจากนี้นายนิติพันธุ์ นำกฎหมายมาตราต่าง ๆ ใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มากล่าวอภิปราย และกล่าวยกตัวอย่างกรณีพนักงาน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปทต.สผ.) รับสินบนจากนักธุรกิจต่างประเทศ โดยป.ป.ช.อาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสืบสวนและจับกุมพนักงานคนดังกล่าว
"ในการทำธุรกิจอย่าให้สินบนข้าราชการไทยและต่างประเทศ โดยนำหลักปฏิบัติของป.ป.ช.ไปใช้ในการทำธุรกิจ" นายนิติพันธุ์ กล่าว
Mrs. Vibeke กล่าวว่า JFCCT ทำงานในไทยมาแล้ว 48 ปี มีสมาชิก 36 บริษัท ทั้ง 36 บริษัทมีเครือข่าย 8,000-9,000 บริษัท นักลงทุนที่มาไทยอยากทำตามกฎหมายและประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส วิสัยทัศน์ของ JFCCT คือ เป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนธุรกิจในปนะเทศไทย เป็นผู้นำทางความคิดในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ดี พิทักษ์เศรษฐกิจให้ยั่งยืน คิดว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 สำคัญมากต่อการทำธุรกิจ โดยพยายามส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ประเทศไทยเป็นพื่นที่เชิงยุทธศาสตร์ สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้
นอกจากนี้ความขาดทางเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นส่วนสำคัญในการเลือกมาลงทุน ยังเห็นว่าแรงงานไทยยังขาดทักษะในการทำงาน ควรเตรียมคนงานที่มีทักษะไว้ให้พร้อมเพื่อรองรับอนาคต และยังต้องพัฒนาการขนส่งและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ ให้มีคนอยากมาลงทุนมากขึ้น ส่วนค่า CPI การต่อต้านการทุจริตที่ลดจากอันดับ 99 เหลือ อันดับ 108 ทำให้เราต้องร่วมมือกันกำจัดการคอร์รัปชัน เราอยากมีส่วนร่วมที่ทำให้นิติธรรมในการประกอบธุรกิจเกิดขึ้น
Mrs. Vibeke กล่าวต่อว่า บริษัทต่างประเทศในไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทย มาตรฐานระหว่างประเทศ และมาตรฐาน OECD (การปรับปรุงเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมการค้าโลก) โดยกฎหมายการควบคุมนิติบุคคลของป.ป.ช.เผยแพร่มา 4 ภาษา หลายคนอาจไม่ทราบเรื่องนี้ หลังจบงานนี้ควรให้บริษัทเครือข่ายไปดาวน์โหลดมาศึกษา เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ทั้งนี้การปฏิบัติตามกฎหมายการต่อต้านทุจริต บริษัททุกบริษัทในไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้
"JFCCT ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและความโปร่งใส กระบวนการที่โปร่งใสลดการคอร์รัปชันและทำให้มีความเท่าเทียม และการแข่งขันที่เป็นธรรม ปราศจากการติดสินบนจะดึงดูดนักลงทุน อยากให้กฎระเบียบการต่อต้านการทุจริตเข้มข้นมากขึ้น อยากให้กฎหมายของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น มาตรฐานของสหประชาชาติ เป็นต้น และมีความเข้มข้นในการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่จะต้องลงโทษอย่างเท่าเทียมกัน" Mrs. Vibeke กล่าว
นางกุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า สมาคมฯมุ่งมั่นพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการบริษัท และธรรมาภิบาลบริษัทในประเทศไทย สมาคมฯ เชื่อว่าถ้ามีบรรษัทที่ดี กรรมการที่ดี จะลดการติดสินบนได้ ทั้งในและนอกประเทศไทย
นอกจากนี้นางกุลภัทรายังกล่าวถึงหลักสูตรการอบรมกรรมการบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการทุจริตและมีบรรษัทภิบาลที่โปร่งใสและยั่งยืน
นางกุลภัทรา กล่าวต่อว่า เราต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย ฉะนั้นในการรวมพลังจะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) มีการร่างกฎและรับมาตรฐานการต่อต้านการรับสินบน โดยทั้งสององค์กรเสนอแนะมาเช่นนี้ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้บริษัทปฏิบัติตาม แต่บริษัทที่ผ่านการรับรองโดย แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) ก็สามารถเชื่อถือได้ว่ามีเจตนาในการหลีกเลี่ยงการคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นแนวทางแก่บริษัทประเมินความเสี่ยงในการคอร์รัปชันต่อหน่วยงานภาครัฐ และมีแนวทางสำหรับการควบคุมความเสี่ยงภายใน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภายในบริษัท การควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังต้องมีนโยบายการให้-รับของขวัญ แก่หน่วยงานและพรรคการเมือง ที่ต้องวางนโยบายให้ชัดเจน ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ก็ดูควบคู่ไปกับมาตรฐานสากล
"การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดและรวดเร็วมากขึ้น จำเป็นต่อการต่อต้านการทุจริต กฎหมายบางมาตราในการต่อต้านการทุจริตอาจจะเก่าไปบ้าง ควรมีการปรับปรุง และมีการร้องเรียนว่าไม่มีการติดตามคำร้องเรียนต่าง ๆ จึงส่งผลต่อความยุติธรรม ทำให้เกิดความด้อยประสิทธิภาพ อยากเห็นการจัดการโดยการใช้ IT เพื่อลดความซับซ้อนในกระบวนการต่าง ๆ และให้นักธุรกิจต่างประเทศสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริตและติดตามเรื่องร้องเรียนได้" นางกุลภัทรา กล่าว
รองศาสตราจารย์ เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) กล่าวว่า ACT มุ่งมั่นเป็นผู้ให้บริการข้อมูลในประเด็นที่มีผลต่อสังคม และทำงานโดยให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยมีความเป็นกลางทางการเมือง มีบทบาทเป็นสุนัขเฝ้าบาทเพื่อลดโอกาสในการทุจริต และทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริต
ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เราทำเพื่อลดการคอร์รัปชัน คือ การทำสัญญาคุณธรรม โดยนำหลักการของสัญญาคุณธรรมมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส กระบวนการภายใต้สัญญาคุณธรรม ภาครัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดทุกขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยสัญญาคุณธรรมมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการประกวดราคา ที่ต้องยินยอมให้มีการร่วมสังเกตการณ์ทั้งกระบวนการ ส่วน ACT ต้องฝึกผู้สังเกตการณ์กระบวนการต่าง ๆ โดยจะต้องสังเกตการณ์แล้วเขียนรายงานแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ทั้งนี้การทำสัญญาคุณธรรมส่งผลกระทบเชิงบวก คือ ในภาคการเงินประหยัดเงินไป 7,700 ล้านกว่าบาท ทำให้ระบบป้องกันการทุจริตเป็นระบบขึ้นมา
รองศาสตราจารย์ เสาวณีย์ กล่าวต่อว่า ACT AI สามารถใช้ในการตรวจสอบการทุจริตภาครัฐ ที่ทุกคนสามารถมาค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ โดย ACT AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ เช่น ความกระจายตัวของโครงการต่าง ๆ เป็นต้น และยังกล่าวถึงช่องทางแจ้งเบาะแสการทุจริตต่าง ๆ เช่น Watch dog เป็นต้น
"ในการต่อต้านการทุจริตต้องอาศัยพลังของพลเมืองจึงจะสำเร็จ เราต้องขยายและส่งเสริมการมือส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต" รองศาสตราจารย์ เสาวณีย์ กล่าว