'อ.เจษฎ์' ห่วงเนื้อหา MOU กรมศิลป์เซ็นร่วมพิพิธภัณฑ์นิวยอร์ก ทวงคืน 2 โบราณวัตถุตัดโอกาสไทยร้องศาลหากมีข้อพิพาทในอนาคต ด้านอธิบดีกรมศิลป์ยืนยัน MOU ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นแค่ความร่วมมือทางวิชาการ ขณะ รมว.วัฒนธรรมขอตรวจสอบก่อน
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอเนื้อหาโดยละเอียดของบันทึกข้อตกลงความเข้าใจหรือ MOU มีผู้ลงนามได้แก่นายแม็กซ์ ฮอลลีน ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน หรือ MET (Metropolitan Museum of Art) กับนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งการเซ็น MOU ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Golden Boy (โกลเด้นบอย) และประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่ายกมือไหว้เหนือศีรษะ (The Kneeling Female) ให้มาตั้งแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
โดยเนื้อหาใน MOU ตอนหนึ่งมีการระบุถ้อยคำว่า ข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฉบับนี้จะต้องยุติอย่างเป็นมิตรผ่านการพูดคุย ปรึกษาหารือ หรือเจรจาต่อรองด้วยจิตวิญญาณของการเคารพซึ่งกันและกันโดยไม่อ้างอิงถึงบุคคลที่สาม ศาลยุติธรรมหรือศาลระหว่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ในพิธีรับมอบประติมากรรมทั้งสองชิ้นที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราโดยระบุว่าในเนื้อหาของ MOU เบื้องต้นนั้นมีข้อกังวลที่สำคัญอยู่ว่าข้อตกลงนี้จะไปผูกมัดในอนาคตด้วยหรือไม่ ถ้าหากว่ามีกรณีที่การพิพาทกันระหว่างสองฝ่าย แล้วไม่สามารถพูดคุยกันได้ ทางฝ่ายไทยจะไม่สามารถนำเรื่องไปร้องต่อศาลหรือหน่วยงานอื่นๆให้มาช่วยหรือตัดสินในเรื่องของการดำเนินการเพื่อทวงคืนวัตถุโบราณได้ ดังนั้นส่วนตัวแล้วจึงได้มีการนำเรียนข้อกังวลที่ว่านี้ไปให้กับทาง น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้รับทราบแล้ว
หลังจากงานพิธีเสร็จสิ้น ได้มีการเปิดให้สื่อมวลชนถามข้อสงสัยต่างๆ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้สอบถามในประเด็นเนื้อหา MOU
โดย น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่าเรื่องเนื้อหา MOU ดังกล่าวนี้ถือว่ามีความละเอียดอ่อน ต้องมีการพูดคุยกันก่อน และก็คงต้องตรวจสอบกันอีกทีหนึ่ง ขณะที่นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ MET กล่าวยืนยันว่า MOU ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ผ่านการความร่วมมือกับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นายพนมกล่าวยืนยันว่า MOU ดังกล่าวนั้นไม่มีผลเสียอย่างไร สิ่งที่จะต้องมีการเซ็นกันจริงๆแล้วยังไม่ได้เซ็นก็คือข้อตกลงระหว่างกันหรือที่เรียกว่า Agreement
“เรื่องที่เซ็น MOU มันไม่มีผลทางกฎหมายอะไร แต่สิ่งที่ทำ MOU มันเป็นแค่ความร่วมมือกันในงานวิชาการเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ามันมีการเซ็น MOU กันตั้งมากมาย เวลาผ่านไปตั้งหลายปี แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกันเลย การเซ็น MOU ทำให้เราได้ไปศึกษาทางวิชาการ ได้มีการไปแลกเปลี่ยนบุคลากรกันเท่านั้นเอง เพราะว่าทางพิพิธภัณฑ์ที่นิวยอร์กเขามีองค์ความรู้ในส่วนนี้ ” นายพนมกล่าวและย้ำว่าไม่ต้องกังวลเรื่อง MOU เพราะว่ามันเป็นเรื่องวิชาการจริงๆ มันไม่ได้มีผลทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทั้งที่ประเทศไทยหรือว่าที่สหรัฐอเมริกา
เมื่อถามต่อว่าแล้วการได้โบราณวัตถุมาสองชิ้นนั้นมาภายใต้ข้อตกลงกฎหมายอะไร นายพนมกล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมา อัยการแขวงนิวยอร์กสั่งให้พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุทุกชิ้นที่เกี่ยวข้องกับพ่อค้าโบราณวัตถุรายหนึ่ง (นายดักลาส แลทช์ฟอร์ด) พอเจอหลักฐานว่าแหล่งที่มาจากประเทศไทยก็ให้คืนแหล่งที่กำเนิด
“กรณีการที่อัยการสั่งให้ตรวจสอบ นั้นเป็นการตรวจสอบหลักฐานที่มา แต่การตรวจสอบของเรานั้นเป็นการตรวจสอบทางศิลปะ ทางวิทยาศาสตร์ มันคนละอันกัน” นายพนมกล่าว