กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจข้าว 10 ปีจาก ก.พาณิชย์ ยันได้มาตรฐานคุณค่าทางโภชนาการ ไม่พบสารพิษตกค้าง แต่มีเศษซากแมลงมอดมากกว่าข้าวตามร้านค้าทั่วไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดแถลงข่าว 'ผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางด้านสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ ด้วยระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025'
นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐาน เป็นแล็บอ้างอิง ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 อันดับที่ 5 ของโลกและที่ 3 ของเอเชีย
ดังนั้น ถ้าต้องตรวจชันสูตรสิ่งใดตามมาตรฐานเพื่อความละเอียดรอบคอบ เช่น ข้าว ก็จะใช้ห้องแล็บมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพราะมีความละเอียดแม่นยำสูงมาก
กรณีข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการส่งมาตรวจนั้น มีจำนวน 2 ตัวอย่าง คือ ข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม โดยส่งมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา และทางกรมวิทย์ฯ มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก จึงได้ทำการตรวจทันทีแม้ว่าจะติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยใช้นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 ท่านในการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด ผลออกมาสรุปเบ็ดเสร็จกลางดึกคืนวันศุกร์ รายงานผลเมื่อวันเสาร์จึงได้มาแถลงข่าววันนี้ ยืนยันว่ากรมวิทย์ไม่ได้ดึงหรือชะลอผลแต่อย่างใด
“ผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่แตกต่างจากข้าวที่เรานำมาตรวจสอบ คุณค่าทางโภชนาการไม่แตกต่างจากข้าวที่เราโภชนาการตามท้องตลาด แต่ต้องรีเฟอร์การปนเปื้อนไม่ได้อยู่ในมาตรฐานการเกษตร เนื่องจากมีเศษมอด ไร ” นพ.ยงยศ กล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวถึงรายละเอียดผลตรวจคุณภาพข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาให้ตรวจ ว่า การตรวจข้าวจะมีการตรวจด้วยตาเปล่า ด้วยการดม ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 30 และ 50 เท่า เพื่อตรวจสอบคุณภาพ 3 ด้าน คือ 1.ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม คือการดูลักษณะทั่วไป ดูลักษณะสี กลิ่นของเมล็ดข้าว และดูสิ่งแปลกปลอม เช่น แมลง ซากแมลง ชิ้นส่วนแมลง หิน กรวด เป็นต้น 2.ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารพิษจากเชื้อรา เช่น สารอะฟลาท็อกซิน ทั้ง 5 สารพันธุ์ สารตกค้างที่เหลือจากการรมข้าว สารเคมีที่มีข้อกำหนดต้องตรวจตามมาตรฐานการเกษตร 250 ชนิด การตรวจโลหะหนัก และ 3.ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ที่ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ นอกจากนั้น ยังได้ตรวจหาสารพิษที่พบในอาหารประเภทบะหมี่ ตามที่มีรายงานข้าวในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันด้วย
"ทางกรมวิทย์มีการตรวจข้าวรวม 4 ตัวอย่าง ประกอบด้วยข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ 2 ตัวอย่างดังกล่าว และข้าวที่กรมวิทย์ได้ซื้อจากร้านค้ารอบกระทรวงฯ อีก 2 ตัวอย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างควบคุมในการเปรียบเทียบกับข้าวที่ประชาชนบริโภคอยู่ทุกวัน" นพ.ยงยศกล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนในการตรวจนั้นจะมีการเตรียมตัวอย่าง และมีตัวอย่างควบคุม ซึ่งจะต้องนำเมล็ดข้าวทั้ง 4 ตัวอย่างไปบดละเอียดและนำมาตรวจหาสารต่างๆ โดยใช้การตรวจถึง 2 รอบ ทั้งที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ให้ตรวจเพียงรอบเดียว ผลการตรวจออกมา ดังนี้
ด้านที่ 1 คุณภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม พบว่า ตัวอย่างข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ มีสิ่งแปลกปลอมทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นเศษของมอดทั้ง 3 ชนิดที่พบบ่อยในข้าวสาร ผลการตรวจ 4 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตอยู่ตัวอย่างเดียว คือ ข้าวสารใหม่ที่เป็นตัวอย่างควบคุม ส่วนอีก 1 ตัวอย่างเป็นข้าวเก่าที่ซื้อจากร้านค้าก็มีมอดปนอยู่แต่ไม่มาก แต่ตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา พบว่ามีเศษขาแมลงและมีมอดอยู่จำนวนเยอะกว่ามาก ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ระบุไว้ว่าข้าวหอมมะลิไทยต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าเอามาตรฐานสินค้าเกษตรมาเทียบ ก็จะไม่ผ่าน 3 ตัวอย่าง คือ ข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และข้าวเก่าในร้านค้า
ด้านที่ 2 ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารอะฟลาท็อกซิน (B1+B2+G1+G2) และเชื้อราอีก 7 ตัว ได้แก่ Deoxynivalenol, Fumonisins (B1+B2) , Ochratoxin A, Citrinin, Trichothecenes HT-2 toxin, Trichothecenes T-2 toxin และ Zearalenone พบว่าการตรวจครั้งแรก ไม่พบสารตกค้างดังกล่าว ซึ่งมีการตรวจซ้ำอีก 1 รอบ เพื่อตรวจสอบ ทั้งที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 กำหนดให้ทำเพียง 1 ครั้ง ก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน
ส่วนการตรวจหาสารตกค้างของสารรมควันได้ตรวจครบ 3 ตัว ได้แก่ hydrogen phosphide, bromide ion และ ethylene oxide และเพิ่มการตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ตรวจในกองด่านอาหารและยา ผลปรากฏว่า ไม่พบเลย ส่วนการตรวจโลหะหนัก อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัย แม้จะพบสารตะกั่วที่ 0.009 ในทั้ง 4 ตัวอย่าง แต่ก็พบน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 อยู่ถึง 200 เท่า เช่นเดียวกับตรวจหาสารหนู ที่พบว่าตัวอย่างข้าวจากกระทรวงพาณิชย์พบที่ 0.126 และ 0.146 และข้าวตัวอย่างควบคุม 2 ตัวอย่าง พบที่ 0.151 และ 0.122 ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 ดังนั้น ด้านโลหะปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นพ.ยงยศ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางโภชนาการ คิดว่าจะเป็นอาหารได้หรือไม่ได้ ต้องดูตรงนี้ จึงมีการดูเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะเรามองเห็นประโยชน์จากผลการตรวจครั้งนี้ ตัวชี้วัดอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการ จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 ตัวอย่างที่ กระทรวงพาณิชย์ส่งมา และ 2 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากรอบกระทรวงฯ มีคุณค่าทางโภชนการไม่แตกต่างกัน จึงเชื่อว่า ถ้าถามว่าข้าวตรงนี้ ยังสามารถให้คุณค่าทางอาหารหรือไม่ ถ้าดูตรงนี้ ทั้ง 4 ตัวอย่างไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปดูเรื่องแรกคือ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ที่ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนมานั้น ประกอบด้วย
"ในการตรวจหาวิตามิน และแร่ธาตุที่คาดว่าจะเสื่อมสลายไป แต่ปรากฏว่าข้าว 4 ตัวอย่าง มีวิตามินและแร่ธาตุไม่แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่กรมวิทย์ได้ตรวจมาตลอด 10 วันที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าการตรวจในครั้งนี้เป็นผลตรวจอย่างตรงไปตรงมา โดยบุคลากรที่เชียวชาญและมีความเป็นอิสระ โดยตนในฐานะอธิบดีไม่เคยไปบอก หรือสั่งให้มีการตรวจ หรือกดดันแต่อย่างใด พร้อมได้ยืนยันกับผู้บริหารของกรมวิทย์ ว่าการแถลงข่าวจะต้องเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บส่งผลมา จะไม่มีการแถลงที่บิดพลิ้วจากผลตรวจแม้แต่รายการเดียว" นพ.ยงยศกล่าวทิ้งท้าย