พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว 'บิ๊กเต่า' ยกกำลังตำรวจ ปปป. ประสาน ป.ป.ท. ลุยค้น 5 จุด พื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี โคราช บุกจับ นายช่างโยธา กทม.-ภรรยา ผู้ต้องหาคนสำคัญ คดีเรียกรับสินบน 9 ล้าน แลกแก้แบบถนนไม่ให้ตัดผ่านสนามกอล์ฟ - 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แจงให้ความร่วมมือตรวจสอบตั้งแต่ต้น มีอีก 6 เคส ขณะ ป.ป.ช.เผยพบหลักฐานเรียกเงินจริง จำนวน 3 ครั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 20 พ.ค.2567 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ บก.ปปป. บูรณาการกำลังร่วมกับ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 และ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวนรวม 5 จุด ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และ นครราชสีมา เพื่อจับกุมขบวนการเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธา กทม. เรียกรับสินบนจำนวน 9 ล้านบาท เพื่อแลกกับการช่วยแก้ไขแบบแนวเขตโครงการถนนเลียบวารี ไม่ให้เข้าไปในเขตสนามกอล์ฟวินด์เซอร์ปาร์ค แอนด์ กอล์ฟคลับ
โดยเป้าหมายสำคัญจุดแรกอยู่ที่บ้านพักหลังหนึ่งในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี (บ้านเลขที่ 168/9 ตั้งอยู่ในหมู่บ้านพลีโน่ ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ 2 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี) ซึ่งเป็นบ้านพักของนายภีมพงษ์ นายช่างโยธาชำนาญงาน กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักงานโยธา กทม. และภรรยา ผู้ต้องหาคนสำคัญของขบวนการ
ทันทีที่เจ้าหน้าที่ไปถึงพบ นายภีมพงษ์ กับ ภรรยา กำลังนอนพักผ่อนอยู่ภายในบ้านจึงแสดงตัวขอเข้าตรวจค้น พร้อมกับแสดงหมายจับเข้าทำการจับกุม
สำหรับปฏิบัติการดังกล่าว สืบเนื่องจากได้มีตัวแทนของบริษัท วินด์เซอร์ฯ เดินทางเข้าร้องทุกข์ผ่าน ป.ป.ท. ว่า นายภีมพงษ์ ซึ่งเป็นช่างโยธาชำนาญงาน กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักงานโยธา กทม. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับในการจัดทำแผนที่รายละเอียดเพื่อประกอบการเสนอ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนและ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินในเขตทางเวนคืน เพื่อใช้ในการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการผังเมือง หรือประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นของกรุงเทพมหานคร โดยนายภีมพงษ์ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตโครงการทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนเลียบวารีกับถนนสุวินทวงศ์และถนนคุ้มเกล้า ออกแบบหรือขออนุญาตก่อสร้าง หรือแก้ไขแบบโครงการ และเร่งรัดการเวนคืนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับบริษัท วินด์เซอร์ปาร์คแอนด์ กอล์ฟ คลับ โดยแอบอ้างกับบริษัท วินด์เซอร์ฯ เมื่อปี 2561 ว่าพื้นที่สนามกอล์ฟต้องถูกเวนคืนที่ดินเพื่อให้แนวถนนตัดเข้าไป จึงเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการย้ายแนวเขตโดยอำพรางด้วยการเปิดบริษัทแอบอ้างว่าที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนแบบ แล้วให้ปองพลเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การจ่ายเงินก้อนแรก จำนวน 5 ล้านบาท กลายเป็นการจ้างที่ปรึกษาแทน
จากนั้นนายภีมพงษ์ ยังออกอุบายให้ผู้เสียหายแก้แบบจากการทำถนนเป็นทางลอดกลางสนามกอล์ฟ เพื่อแลกกับเงิน 1 ล้าน 5 แสนบาท นอกจากนี้ยังเรียกรับค่าติดตามทวงถามอีก 2 ล้าน 5 แสนบาท รวมทั้งหมด 9 ล้านบาท แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ผู้เสียหายเกิดความสงสัยจึงเข้าไปทวงถามกับสำนักงานโยธา กทม. จึงทราบว่า ถูกนายภีมพงษ์ หลอกเรื่องแนวเขตการเวนคืนต้องผ่ากลางสนามกอล์ฟ แต่ในข้อเท็จจริงอยู่เพียงแค่ขอบสนามเท่านั้น จึงทำให้ผู้เสียหายเข้าร้องเรียนกับ ป.ป.ท. ปปป. ป.ป.ช. และ ปปป. เข้าปฏิบัติการในวันนี้
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมของขบวนการนี้เราเรียกว่า "แก๊ง 1%" คือนอกเหนือจากการแอบอ้างการแก้แนวเขตเวนคืนที่ดินแล้ว เมื่อมีโครงการฯ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯการประมูลงานของ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับสภากรุงเทพมหานคร ก็จะเรียกรับเงินผู้ประกอบการ 1% นั่นเอง
ต่อมาเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ ประทุมราช ผกก.1 บก.ปปป. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ,พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ร่วมกันแถลงผลสรุปภาพรวมปฏิบัติการ “ทลายแก๊ง 1 %” รวบเจ้าหน้าที่กรมโยธา ระดับ C6 เรียกรับค่าดำเนินการสนามกอล์ฟชื่อดัง
หลังสามารถจับกุมผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้ทั้งหมด 4 ราย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินของกลาง รถยนต์หรูยี่ห้อ เมอร์ซีเดส เบนซ์ รุ่น C250 coupe สีดำ หมายเลขทะเบียน 8กค 8799 กรุงเทพมหาคร รถยนต์ Toyota camry สีด้า หมายเลขทะเบียน 4ขธ 3779 กรุงเทพมหานคร รถยนต์ Toyota altis สีดำ หมายเลขทะเบียน ฎณ 4678 กรุงเทพมหานคร รถจักรยานยนต์ ฮาร์เลย์ เดวิสัน 5 คัน พระเครื่อง 9 องค์ อาวุธปืน 4 กระบอก ตั๋วจํานําทองคําจำนวนมาก ตั๋วจํานํานาฬิกาโรเล็กซ์ ,สร้องคอทองคํา 2 เส้น โฉนดที่ดิน 2 แปลง บ้านพร้อมที่ดิน 1 หลัง รวมมูลค่า 42,975,000 บาท
พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้มีผู้ประกอบการสนามกอล์ฟวินด์เซอร์ปาร์ค แอนด์ กอล์ฟคลับ เข้ามาร้องทุกข์กับทางพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2567 ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 ทาง กทม. ได้มีโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงท้องถิ่น กระทั่งเมื่อถึงขั้นตอนในส่วนของโยธา มีการสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดิน โดยมี นายภีมพงษ์ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นช่างโยธาชำนาญงาน กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักงานโยธา กทม. ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับในการจัดทำแผนที่รายละเอียดเพื่อประกอบการเสนอ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนและ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่กลับมีพฤติกรรมทำแผนที่ปลอมขึ้นมา ก่อนเข้าไปติดต่อสนามกอล์ฟของผู้เสียหายแล้วหลอกว่าถนนล้ำผ่ากลางเข้าไปในสนามกอล์ฟ จากนั้นก็อ้างตัวว่าสามารถเปลี่ยนแบบแปลนถนนได้ แต่มีข้อแม้ว่าผู้เสียหายจะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการจำนวน 9 ล้านบาท เพื่อทำการปรับแผนที่ถนน
“ในความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแบบแปลนถนนโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ นอกจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นคนอนุมัติ อีกทั้งแบบแปลนถนนดังกล่าวก็ไม่ได้ล้ำผ่ากลางสนามกอล์ฟตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่กว่าที่ผู้เสียหายจะทราบความจริงก็ถูกหลอกสูญเงินไปแล้ว อย่างไรก็ตามหลังรับทราบเรื่องทางเจ้าหน้าที่จึงเร่งตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนกระทั่งทราบตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจนนำมาสู่การออกหมายจับและนำมาสู่การจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินที่เขื่อว่าน่าจะได้มาจากการกระทำผิดดังกล่าว” ผกก.1 บก.ปปป. กล่าว
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็น การบูรณาการกำลังร่วมกันหลายหน่วยงาน ซึ่งในส่วนของคดีนี้เองก็ต้องขอขอบคุณทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอยประสานข้อมูลต่างๆให้กับทางตำรวจ จนสามารถจับกุมเอาผิดกับผู้ต้องหาขบวนการนี้ได้
“ส่วนที่ต้องเรียกผู้ต้องหาขบวนการนี้ว่าเป็น สด 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เพราะว่า เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มขบวนการที่มีการนำโครงการต่างๆของ กทม. ไปบอกหรือนำเสนอให้ผู้ประกอบการต่างๆ หากผู้ประกอบการรายใดสนใจ ก็จะขอเรียกรับเงินสดคิดเป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าของโครงการ อีกทั้งจากแนวทางสืบสวนยังพบว่า ทรัพย์สินของกลางที่ตรวจยึดมาได้กว่า 40 ล้านบาท นั้น เป็นเพียงทรัพย์สินเบื้องต้นที่เชื่อว่าน่าจะได้มาจากการกระทำผิด แต่ในส่วนของทรัพย์สินอื่นๆที่ยังไม่พบความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องการกระทำผิด พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งจากพฤติกรรมต่างๆ ที่สืบพบ ทางเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า นายภีมพงษ์ จะกระทำเพียงคนเดียว จึงต้องขยายผลให้แน่ชัดว่ามีตัวการระดับใหญ่กว่าหนุนหลังอยู่ด้วยหรือไม่”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย เบื้องต้นทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ ส่วนจะอนุญาตให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ประกันตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการพิจารณาจากพฤติกรรมในการให้ความร่วมกับทางเจ้าหน้าที่อีกด้วย
@ 'ชัชชาติ' แจงให้ความร่วมมือ ปปป.-มีอีก 6 เคส
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีนี้ กทม.ให้ความร่วมมือกับ ปปป. ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เนื่องจากมีเบาะแสการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ และยังมีแบบนี้ประมาณ 6 กรณี ในขั้นตอนต่อไป กทม. จะมีการดำเนินการโทษทางวินัย มีการตั้งคณะกรรมการตามขั้นตอน คาดว่าใช้เวลาไม่นานหากมีหลักฐานที่ชัดเจน
"เราเอาจริงเอาจังในเรื่องทุจริต และความโปร่งใสเพราะเป็นสิ่งสำคัญ เราจะเปลี่ยนกรุงเทพมหานครไม่ได้เลยถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องนี้ และต้องจับให้ได้เพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่างและไม่กล้าทำความผิดในลักษณะนี้"
@ป.ป.ช.เผยพบหลักฐานนายช่างหาประโยชน์ไม่สมควรได้ เรียกเงิน 3 ครั้งจำนวน 9 ล้าน
ต่อมาในช่วงเย็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำเอกสารข่าวแจกกรณีนี้ระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ปปง. เข้าจับกุมตัวนายภีมพงษ์ นางสาวอรนุช เดชดาด (ภรรยา) นายปองพล ถาวรวงศ์ และนางสาวลินดา กำลังเลิศ ตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น, สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด
ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องกล่าวหานายภีมพงษ์ พร้อมพวกรวม 4 ราย มีพฤติการณ์ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการสนามกอล์ฟกว่า 9 ล้านบาท คืนให้พนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวน
พบพยานหลักฐานว่ามีการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ทำให้ผู้ประกอบการสนามกอล์ฟเชื่อว่าที่ดินของผู้ประกอบการจะถูกเวนคืนในโครงการของรัฐ อ้างว่าตนเองมีตำแหน่งหรือหน้าที่ที่สามารถขยับแนวเขตในการเวนคืนที่ดินของรัฐในโครงการต่าง ๆ ที่จะกระทบกับที่ดินของสนามกอล์ฟได้ สามารถอำนวยความสะดวกในการออกแบบและขอใบอนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองและถนน (ทางเชื่อม) ให้สนามกอล์ฟได้โดยสะดวกและสามารถติดตามเร่งรัดในการเวนคืนที่ดินของทางกรุงเทพมหานครได้
โดยมีการร่วมกันเรียกรับเงินในการดำเนินการดังกล่าว จำนวน 3 ครั้ง รวมกว่า 9 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการสนามกอล์ฟได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. จึงนำกำลังเข้าจับกุมตัวนายภีมพงษ์ฯ นางสาวอรนุชฯ (ภรรยา) นายปองพลฯ และนางสาวลินดาฯ ที่บ้านพักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมกับแจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้ถูกจับทั้งสี่รายทราบและควบคุมตัวไปที่ บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ขยายผลตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 แห่ง พบว่านายภีมพงษ์ฯมีทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น รถยนต์หรู รถจักรยานต์บิ๊กไบค์ อาวุธปืน ตั๋วรับจำนำทองคำและทรัพย์สินจำนวนมาก บ้านและคอนโดสิบกว่าแห่ง ทั้งในครอบครองตนเองและให้ภรรยาครอบครองแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้เพื่อตรวจสอบต่อไป