เครือข่ายอนาคตกัญชาฯ ยื่นค้านจี้ทบทวนก่อนดึงกลับเป็นยาเสพติด จ่อบุกทำเนียบ 28 พ.ค. ด้าน 'สมศักดิ์' รับเรื่องเอง ยันไม่เอาสันทนาการ
สำนักข่าอิศรา (www.isranws.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นำเครือข่ายผู้สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 80 คน ประกอบด้วย วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ภาคีเครือข่ายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ม่าง พ.ศ. … ภาคประชาชน, เครือข่ายผู้ประกอบการ และผู้ป่วย-ใช้กัญชาเพื่อรักษาสุขภาพ ร่วมยื่นหนังสือ “ข้อเสนอเพื่อการปฏิบัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในกรณีการนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด” โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้รับมอบหนังสือด้วยตนเอง
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เราจะได้ยินว่า “กัญชาเป็นยาเสพติด” โดยยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ประกอบด้วย กัญชา กระท่อม เห็ดขี้ควาย ฝิ่น แต่ตนในช่วงที่เป็น รมว.ยุติธรรม ได้เสนอให้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ซึ่งในกฎหมายระบุว่า ให้ รมว.สธ. ไปออกประกาศรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ที่สามารถประกาศลดหรือเพิ่มได้ ขณะที่เรามีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ” ไม่เคยพูดเรื่องสันทนาการเลย ตนเลยไม่เข้าใจว่าวันนี้เราจะงงงวยกันขนาดไหน อย่างไร ถึงได้พูดกันว่ากัญชาจะเป็นยาเสพติดไม่ได้ เถียงกัน เกี่ยงงอนกันเรื่องชื่อ แต่ตนคิดว่าต้องทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ และต้องไม่ขัดกับโลกสากล ทั้งนี้ หากมีกฎหมายต้องทำให้ใช้ได้ง่ายในการแพทย์ การใช้ก็ต้องเขียนให้ใช้ได้ไม่ทำให้ท่านปวดหัว แต่เรื่องของชื่อว่าจะเป็นยาเสพติดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
“ถ้ายังคิดแบบนี้อยู่อีก ก็ไม่อยากให้กว้างไกลกระหึ่มไป ท่านยื่นหนังสือผม ผมก็จะเอาไปพิจารณา ยืนยันว่าเราจะทำให้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ใช่สันทนาการ และการจะออกกฎหมาย ประกาศ หรือกฎกระทรวง ก็ต้องทำตามกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ผมเป็นคนเสนอและผมยกเลิกกฎหมายอื่นหมดเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ก็กำหนดให้ทำกฎหมายรอง เช่น กระท่อม กัญชา ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ผมก็ทำกระท่อมจบแล้ว และไม่ใช่เสรีไปทั้งหมด ก็มีขอบเขตไว้ ดังนั้น ผมคิดว่ายังอยู่ครึ่งๆ ที่ถกเถียงกันอยู่ตรงนี้” นายสมศักดิ์กล่าว พร้อมตั้ง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นโฆษกในการสื่อสารเรื่องกัญชา
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า กัญชาจะต้องถูกควบคุมซึ่งมีเครื่องหมาย 2 อย่างระหว่าง ‘พระราชบัญญัติกัญชา’ หรือจะควบคุมโดยกฎหมาย ‘ยาเสพติด’ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์เครื่องมือที่จะใช้ ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็เท่ากับว่าเอากัญชากลับไปขังคุกใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรับรองจาก ส.ส.ชุดที่แล้วว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แล้วมาวันนี้ก็กลับมาใหม่ อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำ คือนำข้อดีมาใช้และควบคุมข้อเสีย ซึ่ง พ.ร.บ. สามารถบรรจุเครื่องมือทั้งหมดที่จะควบคุมการใช้ได้ ส่วนความเป็นห่วงเยาวชนใช้กัญชานั้น ต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบท ณ ขณะนั้น แต่ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติดก็จะไม่สามารถออกกฎหมายที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทได้
“ขอให้ สธ. จัดทำข้อเท็จจริงเปรียบเทียบให้เห็นถึง ข้อดี ข้อเสีย การก่อโรคและการมีคุณสมบัติรักษาโรคระหว่าง สิ่งที่อนุญาตให้อยู่กับสังคมได้ในขณะนี้คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ที่คนเข้าถึงได้ง่ายได้ พร้อมเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ภายใน 15 วันนับจากวันนี้ โดยขอให้ยึดถืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้นอย่าเอาข้อมูลที่ ‘มโนเอาเอง’ จากข่าวที่ออกในสื่อ คำถามคือทำไม สธ. ไม่ทำข้อเท็จจริง กลับไปกลับมา 3 ปีที่แล้วบอกไม่ใช่ยาเสพติด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สธ. ก็บอกว่าไม่ใช่ยาเสพติด ท่านรมว.คนใหม่มากลายเป็นยาเสพติด ข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมาคือ การให้สัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งว่าให้เอากลับเป็นยาเสพติด แต่ให้ สธ.ไปศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กัญชาดีหรือร้ายอย่างไร ถ้าร้ายก็ให้เอากลับเป็นยาเสพติด ถ้าไม่ใช่ก็ให้อยู่ที่เดิม นี่คือความสง่างามของกระบวนการ ไม่ใช่มีธงอยู่แล้วว่าจะเอากลับเป็นยาเสพติด แล้วก็ผลักดันให้กรรมการลงมติ ตนยืนยันว่าจะหารายชื่อบุคคลเหล่านั้น เพื่อไปถามเหตุผลในการเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด ถ้าตอบไม่ได้ เจอกันในศาล
ทั้งนี้ ขอให้ สธ. จัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบโดยกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการภายใน 3 เดือน โดยระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการได้ข้อมูลและไม่ล่าช้าจนเกินไปในการดำเนินการให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา
“ข่าวที่บอกว่ามีคนใช้กัญชาแล้วคลั่ง แต่ถ้าไปดูสายเขียวที่ใช้กัญชา ทำไมไม่คลั่งเสียที แต่มีข่าวคลั่งออกมา ยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ ข่าวมีคนใช้กัญชาแล้วไปข่มขืน แต่เมื่อไต่สวนแล้วพบว่า กลัวพ่อแม่ด่าเลยบอกว่าใช้กัญชา เพราะกัญชาไม่ผิดกฎหมาย กรณีที่ 2 ที่บอกว่าเมากัญชาแล้วฆ่าคน พอไต่สวนก็พบว่าเคยใช้กัญชาเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2566 คำถามคือประเทศนี้จะใช้การปั่นในการกำหนดนโยบายหรือจะใช้ข้อเท็จจริง พวกเราผู้ใช้กัญชายินดีให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง” นายประสิทธิ์กล่าว
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า หากนำกัญชา กลับคืนเป็นยาเสพติด ประชาชนจำนวนมากที่ปลูก และทำร้านกัญชาจะได้รับผลกระทบ 1 ล้านใบอนุญาตปลูก และ 10,000 กว่าใบอนุญาตขาย หากรัฐบาลทำเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมาก ล่าสุดผู้ประกอบการทั่วประเทศจะรวมตัวกันในวันที่ 28 พ.ค. นี้ไปยื่นหนังสือและเรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า จะมีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งหรือทางปกครอง จะต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง
เนื่องจากมีความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นจริง และทางปกครองเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรม ในการเปลี่ยนคำสั่งทางปกครอง เพราะมีเหตุไม่มากพอในการเปลี่ยน และการเปลี่ยนเกิดความเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการฟ้องร้องก็จะดำเนินการกับคณะกรรมการทุกชุดที่มีผลในการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด
ส่วนกรณีจะต้องรอคณะกรรมการฯ หรือผลข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบโทษกัญชา กับบุหรี่และเหล้าก่อนหรือไม่ นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า หากมีเหตุผลจริง มีข้อมูลทางวิชาการจริง ก็มีเหตุผลเพียงพอ แต่รัฐบาลจริงใจก็ต้องมีคณะกรรมการมาศึกษาที่มาจากทุกภาคส่วนจริงๆ มีข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือได้เปรียบเทียบออกมาอย่างชัดเจน
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวถึงการแสดงจุดยืนของ สธ. ว่า จริงๆกระทรวงสาธารณสุขต้องมีจุดยืนให้ชัดเจน อย่างปลัดกระทรวงฯ อยู่มาถึง 3 รัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องรับผิดชอบในฐานะข้าราชการสูงสุด ประเด็นคือ จุดยืนในข้าราชการสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา ต้องชัดเจน เพราะนักการเมืองเปลี่ยนตามนโยบายพรรค แต่ข้าราชการกระทรวงฯ หากไม่มีจุดยืน การกำหนดนโยบายกัญชาก็เพี้ยนหมด ดังนั้น ปลัด สธ.ต้องมีจุดยืนเอาข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ออกมาให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่า ไปอิงแต่ฝ่ายการเมือง ย่อมไม่ได้ ไม่ใช่ว่า พอเปลี่ยนยุค เปลี่ยนรมต. ข้อมูลจะเปลี่ยนไปด้วย แบบนี้ไม่ได้