ป.ป.ช. ตรัง ฟัน 'กิจ หลีกภัย' พี่ชาย 'ชวน หลีกภัย' ในวัย 89 ปี ขณะนั่งเก้าอี้นายก อบจ.ตรัง ปมทุจริต ฮั้วประมูล การเช่า ท่าเทียบเรือนาเกลือเพื่อใช้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล ภายหลังจากเมื่อเดือน ก.พ.67 ที่ผ่านมาได้ถูกชี้มูลครั้งแรก กรณีซื้อที่ดินสร้างท่าเรือแพงเกินจริงมาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า 14 พ.ค.67 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง แถลงกรณีมีการชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหานายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กับพวก ว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าท่าเทียบเรือและอาคารประกอบ ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อใช้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้ทำสัญญาเช่าท่าเทียบเรือและอาคารประกอบ ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากกรมธนารักษ์เพื่อใช้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้จะต้องขออนุญาตต่อกรมเจ้าท่า และต้องมีอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการและค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงขนถ่ายสินค้า
นายกิจ หลีกภัย ผู้ถูกกล่าวหา จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 35/5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ออกประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ และขณะเดียวกันในขณะนั้นเนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังไม่มีเครื่องจักรในการขนถ่ายสินค้า นายกิจ หลีกภัย จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อให้บริการเครื่องจักรกับบริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) โดยมีนายธงไชย แพรรังสี ประธานกรรมการบริหาร และนายชำนาญ งามพจนวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม ซึ่งมีการกำหนดให้บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ในอัตราร้อยละ 20 ของอัตราค่าธรรมเนียม หรือรายได้ทั้งหมดที่ได้รับจากการให้บริการโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ปรากฎว่าการทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ดังกล่าวไม่ได้เสนอขอมติจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และไม่ได้ดำเนินการโดยการประมูล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการให้เอกชนกระทำกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2541 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 9 เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำเงินค่าตอบแทนเข้ามาเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้ เนื่องจากดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินกิจการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2541 ข้อ 5 และข้อ 6 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการให้เอกชนกระทำกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2541 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 9
ต่อมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล นายกิจ หลีกภัย จึงออกประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ (ฉบับที่ 2) และประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ (ท่าเรือตรัง) (ฉบับที่ 3) และได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามประกาศดังกล่าว แต่ได้มีการเสนอเรื่องการดำเนินกิจการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ
เพื่อตราเป็นข้อบัญญัติต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการกระทำภายหลังจากที่มีการประกาศใช้อัตราค่าธรรมเนียมไปแล้ว จำนวน 3 ฉบับ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมที่ได้ออกใบแจ้งหนี้ไว้ก่อนมีการตราข้อบัญญัติเข้าเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้ ตามระเบียบ โดยจะเรียกเก็บค่าเงินธรรมเนียมเข้าเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังเฉพาะส่วนที่ได้รับหลังจากที่มีการตราข้อบัญญัติเรื่องการดำเนินกิจการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ และได้ออกประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม (ฉบับที่ 4) ทั้งนี้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ทั้ง 3 ฉบับแรก มีการกำหนดให้เก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะและเครื่องมือยกขนที่อยู่ในเขตท่าเรือเกิน 24 ชั่วโมงด้วย
และจากเรื่องนี้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าภายหลังจากเมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) แล้ว บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการให้บริการเครื่องจักรนั้น ในแต่ละวันจะใช้เครื่องจักรประมาณ 5 – 8 คัน และเครื่องจักรดังกล่าวจะจอดประจำอยู่ในพื้นที่ของท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือโดยตลอด ไม่มีการนำเครื่องจักร เข้า – ออก แต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้เก็บเพียงค่าธรรมเนียมการใช้บริการจากบริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) เป็นค่าบริการรถยกตู้สินค้าและค่าบริการรถปั้นจั่น โดยที่ไม่ได้เรียก เก็บค่าธรรมเนียมในส่วนของเครื่องจักรกลที่บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) นำมาไว้ในพื้นที่เขตท่าเรือเกิน 24 ชั่วโมง
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า การกระทำของนายกิจ หลีกภัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 79
ส่วนบริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายธงไชย แพรรังสี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายชำนาญ งามพจนวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายธงไชย แพรรังสี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายชำนาญ งามพจนวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายกิจ หลีกภัย และได้ส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยัง ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ กับนายกิจ หลีกภัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และได้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตามการไต่สวนคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.67 หรือประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ได้มีการแถลงข่าวชี้มูลความผิด นายกิจ หลีกภัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง กับพวก รวม 13 รายว่า มาแล้วในเรื่องจัดซื้อที่ดิน เพื่อนำมาก่อสร้าง ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ (ท่าเรือตรัง) ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง มีราคาสูงเกินจริง เป็นคดีแรก จนกระทั่งมีการชี้มูลความผิดคดีที่ 2 ในวันนี้ (14 พ.ค.67)
@ นายกิจ หลีกภัย
สำหรับ นายกิจ หลีกภัย ปัจจุบันอายุ 89 ปี เป็นพี่ชายของนาย ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกิจนั้น ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง มายาวนานถึง 25 ปี หรือกว่า 5 สมัย ต่อมามีนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ มาดำรงตำแหน่งต่อจนถึงปัจจุบันนี้
อ่านประกอบ :