กต.อังกฤษสั่งสอบ หลังกลุ่มฮามาสอ้างตัวประกันอังกฤษเสียชีวิตเพราะเหตุอิสราเอลโจมตีทางอากาศ-ขณะสื่อจีนเผยอิสราเอลปล่อยใบปลิว เตือนผ่านสื่อออนไลน์จี้อพยพออกจากเมืองราฟาห์ หลังมติ UN รองรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่ากระทรวงต่างประเทศอังกฤษกำลังตรวจสอบคำกล่าวอ้างของกลุ่มฮามาสที่ว่ามีตัวประกันชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอลเสียชีวิตในฉนวนกาซา
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มฮามาส ซึ่งทางรัฐบาลอังกฤษระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้ออกมากล่าวอ้างว่านายนาดาฟ ป๊อปเพิลเวลล์วัย 51 ปี เสียชีวิตจากบาดแผลที่มาจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้ว
สำหรับนายป็อปเพิลเวลล์นั้นถูกจับพร้อมกับผู้เป็นแม่ซึ่งก็คือนางชานนาห์ เปรี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปีที่ผ่านมา เมื่อนักรบกลุ่มฮามาสข้ามกำแพงรั้วมาเพื่อโจมตีอิสราเอล ส่วนทางกองทัพอิสราเอลยังไม่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่ากําลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
สำหรับสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสนั้น พบว่ากองทัพอิสราเอลยังคงเปิดยุทธการณ์โจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งการโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน อีก 252 คนถูกจับเป็นตัวประกัน ขณะที่ปฏิบัติการณ์ทางทหารของอิสราเอลก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 34,900 คนในฉนวนกาซา ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส
ขณะที่ทางกองทัพอิสราเอลได้ออกมากล่าวว่ายังไม่ทราบชะตากรรมของตัวประกันที่เหลืออีกจำนวน 128 คน ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงตัวประกันไทยจำนวน 8 คน
โดยสถานการณ์การสู้รบเมื่อวันที่ 11-12 พ.ค.มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของประเทศจีนระบุว่าเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ทางการอิสราเอลได้มีการโปรยใบปลิว และประกาศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้ประชาชนในเขตทางตะวันออกของเมืองราฟาห์อพยพเพิ่มเติมอีก โดยให้ไปยังเขต อัล-มาวาซี พื้นที่แคบๆ บริเวณชายฝั่ง ซึ่งพวกเขาจัดให้เป็นเขตมนุษยธรรม
อย่างไรก็ตามการประกาศให้อพยพนี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่สมัชชาใหญ่ที่ประชุมสหประชาชาติ (UN) ลงมติสนับสนุนถึง 143 เสียง คัดค้าน 9 เสียง และงดออกเสียง 25 เสียง ยอมรับให้รัฐปาเลสไตน์เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ ทำให้ปาเลสไตน์ ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์ จะได้รับสิทธิเกือบทุกอย่างเทียบเท่ากับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ยกเว้นสิทธิในการลงมติในที่ประชุมสมัชชา (GA) และสิทธิในการเป็นสมาชิกในองค์กรของยูเอ็นเช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
สำหรับการลงคะแนนเสียงดังกล่าว ประเทศไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สำหรับสมาชิกที่ลงคะแนนเสียงคัดค้านประกอบด้วย อาร์เจนตินา, เช็คเกีย, อิสราเอล, ฮังการี, ไมโครนีเซีย, นาอูรู, ปาลาลู, ปาปัวนิวกินี, และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชาติยุโรปหลายประเทศงดออกเสียง
เรียบเรียงจาก:https://english.news.cn/20240512/0867e727ad6641b8b1ff3ad4e971cac5/c.html,https://www.bbc.com/news/world-middle-east-68998654