‘สำนักงาน ป.ย.ป.’ เปิดรับฟังความเห็น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ ‘พ.ร.บ.ล้มละลาย’ ให้ ‘บุคคลล้มละลาย’ ยังทำงานใน ‘องค์กรภาครัฐ’ ได้ พร้อมเพิ่มนิยาม ‘บุคคลล้มละลายทุจริต’
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... ผ่านเว็บไซต์ ระบบกฎหมายกลาง โดยจะเปิดรับฟังความเห็นฯไปจนถึงวันที่ 23 พ.ค.นี้
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ บุคคลล้มละลาย พ.ศ. ... มีหลักการใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.ปรับทัศนคติเกี่ยวกับบุคคลล้มละลายว่ามิได้เป็นผู้ไร้ความสามารถ การล้มละลายมีหลายรูปแบบ และการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพมีความแตกต่างกัน การเป็นบุคคลล้มละลายบางตำแหน่งมิได้กระทบต่อความสามารถในการทำงาน
2.สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการล้มละลายว่าไม่ได้เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเสมอไป ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้บุคคลล้มละลายได้ แม้จะดำเนินการโดยสุจริตและใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม และไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจะกระทำการทุจริตเสมอไป
3.ป้องกันไม่ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องเสียบุคลากรที่มีความสามารถ แก้ข้อจำกัดที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่คุ้มค่า อันทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้และภาครัฐต้องเสียบุคลากรที่มีคุณภาพโดยไม่จำเป็น
4.ปฏิบัติตามหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวขัดต่อหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุของฐานะทางเศรษฐกิจ และยังอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย
@ให้‘บุคคลล้มละลาย’ดำรงตำแหน่งใน‘องค์กรภาครัฐ’ได้
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ร่างมาตรา 3 กำหนดนิยาม “บุคคลล้มละลายทุจริต” และ “บุคคลล้มละลาย”
โดย “บุคคลล้มละลายทุจริต” หมายความว่า “บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึงมาตรา 170 ตามกฎหมายล้มละลาย หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอก หรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง”
และ “บุคคลล้มละลาย” หมายความว่า “บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ตามกฎหมายล้มละลาย”
ร่างมาตรา 5 บัญญัติว่า “ผู้ที่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลล้มละลายทุจริต มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งทราบถึงการที่ตนตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือบุคคลล้มละลายทุจริตโดยไม่ชักช้า”
ร่างมาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาให้บุคคลล้มละลายที่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมนั้นต่อไปได้ หากการปฏิบัติงานในหน้าที่ของบุคคลล้มละลายนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารของตำแหน่งงาน หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่บุคคลล้มละลายดำรงอยู่
การพิจารณาของผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับกับตำแหน่งที่ต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้ง และมีอำนาจการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โดยผู้มีอำนาจแต่งตั้งต้องกำหนดให้บุคคลล้มละลายไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเมื่อบุคคลล้มละลายได้รับการปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจึงสามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าวได้ ตามความเหมาะสม”
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ตามบัญชีแนบท้าย รวม 13 ฉบับ ในประเด็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ จากเดิมที่กำหนดว่า “ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย” เป็นคำว่า ‘ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต’ เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2534 ,พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เป็นต้น
@ชี้ 5 ข้อจำกัด‘กม.ล้มละลาย’กระทบการประกอบอาชีพ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการทบทวนกฎหมายล้าสมัย ภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (ปกร.) พิจารณาจัดทำความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย โดยคณะอนุกรรมการทบทวนกฎหมายล้าสมัยได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบของการกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมายแล้ว
เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนมากเกินควรและไม่เป็นการส่งเสริมให้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
นอกจากนี้ บทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ยังคงนำเหตุแห่งการเป็นบุคคลล้มละลายมาเป็นข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพ โดยแบ่งเป็นบทบัญญัติในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลาย ออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.ห้ามดำรงตำแหน่งสำคัญ 2.ห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน 3.ห้ามรับราชการ และ 4.ห้ามประกอบอาชีพ
จากเหตุดังกล่าว กฎหมายของบุคคลล้มละลายในปัจจุบันมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส่งผลให้บุคคลล้มละลายขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพ จากกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ผลกระทบของการกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย โดยที่การกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ได้แก่
1.เหมารวมว่าบุคคลล้มละลายไร้ความสามารถ 2.การล้มละลายไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดีเสมอไป 3. ข้อจำกัดดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์และไม่คุ้มค่า 4.ขัดต่อหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และ 5.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
คณะอนุกรรมการทบทวนกฎหมายล้าสมัย และ ปกร. จึงยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... และนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นฯในครั้งนี้
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ตามที่สำนักงาน สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอ เนื่องจากเห็นว่า ข้อกำหนดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมายฉบับปัจจุบันหลายฉบับ อาจส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และทำให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ และไม่เป็นการส่งเสริมการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ
พร้อมกันนั้น ครม.ให้ส่วนราชการต่างๆนำหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ไปตรวจสอบกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ หากเห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกบัญญัติที่ไม่สอดคล้องต่อ ครม. ต่อไป (อ่านประกอบ : รื้อเกณฑ์'บุคคลล้มละลาย' ดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ-ประกอบอาชีพ'รับราชการ'ต่อไปได้)
อ่านประกอบ :
รื้อเกณฑ์'บุคคลล้มละลาย' ดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ-ประกอบอาชีพ'รับราชการ'ต่อไปได้