สทร.แจงคุมเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีไฮโดรคาร์บอน เอกชนมาบตาพุดได้แล้ว หลังจ.ระยองสั่งอพยพประชาชนด่วน ขณะยอดผู้บาดเจ็บล่าสุด 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ด้านบริษัทยืนยันสารเคมีมีผลกระทบสุขภาพในระดับต่ำ
จากกรณีที่เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ของวันนี้ (9 พ.ค.) ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมี C-9 (nine) ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ถนนไอ 8 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ16.30 น. สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) รายงานว่า สามารถควบคุมสามารถควบคุมเพลิงให้สงบ ขณะนี้ไม่พบกลุ่มควันแล้ว
โดยที่จังหวัดระยองยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 และยังคงมีการฉีดโฟมเพื่อหล่อเย็นบริเวณถังเก็บสารเคมีดังกล่าว เพื่อรักษาอุณภูมิป้องกัน
ซึ่งจะมีโดรนบินตรวจวัดอุณหภูมิเหนือถังจนกว่าอุณหภูมิจะต่ำกว่าจุดวาบไฟ (42-57 องศาเซลเซียส) พร้อมกำชับให้ติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับการจัดการน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจะไม่มีการปล่อยระบายออกสู่ภายนอกการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ได้กำชับให้บริษัท ดำเนินการรวบรวมน้ำทิ้งและส่งกำจัดตามหลักวิชาการต่อไป
ส่วนบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ชี้แจงกรณีเกิดเพลิงไหม้ว่า มีผู้บาดเจ็บจำนวน 4 ราย อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งบริษัทฯ จะให้การดูแลและช่วยเหลือผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่
อนึ่งก่อนหน้าที่จะควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ ในช่วงเวลา 16.00 น. จังหวัดระยองได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับ 2 แล้ว ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ. สั่งการให้ สทร. และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สนพ.) จังหวัดระยอง อพยพประชาชนและพนักงานของสถานประกอบและโรงงานทุกแห่งในพื้นที่เกิดเหตุ ออกจากพื้นที่โดยด่วนแล้ว
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองมาบตาพุด แจ้งประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เพลิงไหม้บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ให้อพยพไปยังจุดปลอดภัย ได้แก่ 1.โรงเรียน มาบตาพุดพิทยาคาร 2.โรงเรียนบ้านมาบตาพุด (ห้องประชุมกันเกรา) และ 3.หาดน้ำริน บ้านฉาง พร้อมทั้งแจ้งหลีกเลี่ยงเส้นทาง ได้แก่ 1.ถ.สุขุมวิท 2.เส้นทางเข้าตลาดลาว 3.เส้นทางปกรณ์สงเคราะห์ 4.เส้นทางจากหนองแฟบ และ 5.ถ.เลียบชายหาดสุชาดา
ขณะที่ในช่วงเวลา 12.00 น. วันเดียวกัน บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้เผยแพร่เอกสารข่าวโดยระบุว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลาประมาณ 10.45 น.ได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ ของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
บริษัทฯ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ในทันทีที่เกิดเหตุตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน โดยได้ตัดแยกระบบและหยุดกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานตามขั้นตอนความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสาเหตุ เบื้องต้นได้รับแจ้งว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์เรียบร้อยแล้ว โดยเหตุดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ ดังกล่าว ได้มีการแยกเบนซีน โทลูอีน มิกซ์ไซลีน ออกหมดแล้ว ปัจจุบันสารนี้ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ (Solvent) ที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระดับต่ำ
"บริษัทฯ ขออภัยในเหตุที่เกิดขึ้น และจะพยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่ เพื่อดูแล ชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นของชุมชนบริเวณรอบโรงงาน และจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" เอกสารข่าวของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ระบุ
ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า บริษัทฯจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบโดยเร็วที่สุด
ต่อมา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีเหตุการณ์ของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จังหวัดระยอง ว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลาประมาณ 10.45 น. ได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง
นับแต่เกิดเหตุ MTT ได้เร่งระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ในทันทีที่เกิดเหตุตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน โดยได้ตัดแยกระบบและหยุดกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานตามขั้นตอนความปลอดภัย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 ราย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อมาได้รับแจ้งว่ามีพนักงานเสียชีวิต 1 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างควบคุมเหตุการณ์และประเมินความเสียหาย รวมทั้งการหาสาเหตุ
ทั้งนี้ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) จากการผลิตสารตั้งต้น เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกที่อยู่ในถังจัดเก็บดังกล่าวได้มีการแยกเบนซีน โทลูอีน มิกซ์ไซลีน ออกหมดแล้ว ปัจจุบันสารนี้ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ (Solvent)