นักวิเคราะห์ชี้ข่าว 'ทักษิณ' คุยกลุ่มชาติพันธ์ุ ย้ำอดีตนายกฯมีอิทธิพลต่อนโยบายไทยแก้ไขปัญหาเมียนมาหลัง ขณะโฆษก NUG หวัง รมว.กต.คนใหม่สานต่อนโยบายปานปรีย์ ด้าน 'เศรษฐา' ยังไม่ทราบ 'ทักษิณ' ไปเจรจากลุ่มชาติพันธ์ุหรือไม่ แต่เชื่ออดีตนายกฯหวังดีต่อประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความเคลื่อนไหวจากทางฝั่งเมียนมากรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบกับกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆและการที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของไทย
โดยสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาของสหรัฐอเมริกาได้รายงานข่าวว่าเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ได้หารือกับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา โดยการพบปะกันดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย.ที่ผ่านมา โดยทักษิณได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และองค์การแห่งชาติกะฉิ่น (KNO) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา
ขณะที่นาย Sai Tun Aung Lwin นักวิเคราะห์กิจการเมียนมากล่าวถึงกรณีดังกล่าวรวมไปถึงกรณีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าหลังจากนี้ทักษิณจะเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเมียนมาของไทย ไม่มากก็น้อย เนื่องจากนายทักษิณมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสามกลุ่มในเมียนมาด้วยกันได้แก่กลุ่มอดีตนายพลต่างๆ, ในช่วงที่นายทักษิณยังมีอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาก็ไปมีความสัมพันธ์กับ RCSS และก็มีความสัมพันธ์กับ KNU
ทางด้านของนายอู จ่อ ซอว์ (U Kyaw Zaw) โฆษกสำนักประธานาธิบดี รัฐบาลเงาเมียนมาหรือ NUG กล่าวว่าที่ผ่านมานายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยได้เข้าไปพบปะหารือกับบุคคลสำคัญนเมียนมาหลายคน ในขณะที่แม่สอดพยายามจะเข้าถึงชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้นตัวเขาก็หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของไทยจะสานต่อแนวทางที่ว่านี้
“รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งสําหรับการสนับสนุนและความเห็นอกเห็นใจของรัฐบาลไทย เรายังรับรู้มัน นอกจากนี้ ผมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลไทยกําลังขยายการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกประเภท ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ เราก็เชื่อและหวังว่ากิจการของเมียนมาจะมีความสําคัญเป็นอันดับแรก” นายอู จ่อ ซอว์กล่าว
ทางนาย Sai Tun Aung Lwin กล่าวว่าสภาทหารเมียนมาอาจจะตอบสนองได้ดีกว่า กับความพยายามของนายทักษิณ โดยกรณีนี้อยากให้ดูตัวอย่างของประเทศจีนที่ผ่านมา
“การเจรจาระหว่าง 3 กลุ่มในช่วงปฏิบัติการณ์ 1027 และการหารือกับทางประเทศจีนและทหารเมียนมา นั้นเป็นที่ยอมรับได้โดยพวกเขาสามารถยอมรับการแทรกแซงเช่นนี้ได้ ถ้านายทักษิณมา เขาจะมีความสัมพันธ์บางอย่างกับเหล่าบรรดานายพล ดังนั้นนี่อาจจะยอมรับได้ แต่ตัวผมก็ยังไม่เห็นว่าทหารสภาทหารจะยอมรับในสิ่งนี้” นาย Sai Tun Aung Lwin กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ทราบว่านายทักษิณมีการไปเจรจาหรือไม่ แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง มีการพูดคุยกันทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องความลับและเราไม่อยากเปิดเผย
นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ตนเองยืนยันในหลักการเดิม ประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจา เพราะเรามีเขตชายแดนติดกับเมียนมาเยอะ ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามแนวทางที่อาเซียนมีมา และเรื่องแนวทางการช่วยเหลือตามสิทธิมนุษยธรรม
“ผมไม่ทราบมีการพูดคุยหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านมีความหวังดีต่อประเทศ” เศรษฐากล่าว
เรียบเรียงจาก:https://burmese.voanews.com/a/7599448.html